ปภ.แนะเตรียมรถพร้อมขับ ในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง…ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

การขับรถในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ การเตรียมความสภาพรถให้พร้อมใช้งาน จะช่วยให้การใช้รถใช้ถนนในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสารภัย (ปภ.) ขอแนะปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุและเตรียมสภาพรถให้พร้อมขับขี่ ในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ได้แก่

  • สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะระบบเบรก ระบบปัดน้ำฝน ยางรถยนต์และสัญญาณไฟ
  • สภาพถนนไม่ปลอดภัย ถนนเปียกลื่น ผิวถนนมีสภาพเป็นโคลน และมีน้ำท่วมขัง
  • พฤติกรรมของผู้ขับขี่ การขับรถเร็ว การเปลี่ยนช่องทาง การแซงในระยะกระชั้นชิด หรือการหยุดรถอย่างกะทันหัน

เตรียมรถให้พร้อม – ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • ใบปัดน้ำฝน ยางของใบปัดน้ำฝนที่มีขนาดตามมาตรฐานที่รถกำหนด กวาดน้ำได้สะอาด และไม่มีรอยขุ่นมัวรวมถึงเนื้อยางไม่แห้งกรอบ และไม่มีเสียงดังในขณะใช้งาน ทั้งนี้ การใช้น้ำยาเช็ดกระจกหรือน้ำยาเคลือบรถ จะช่วยขจัดคราบฝังแน่น ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเจนและใบปัดน้ำฝนกวาดน้ำได้สะอาดยิ่งขึ้น
  • ระบบเบรก ต้องหยุดรถได้ในระยะที่ปลอดภัย ขณะที่เหยียบเบรกไม่มีเสียงดังและรถไม่มีอาการปัดหรือไถล รวมถึงตรวจสอบความหนาของผ้าเบรก จานเบรก ไม่มีรอยสึกหรอ ต้องไม่มีรอยรั่วซึมของน้ำมันเบรก ทั้งนี้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกอยู่ในช่วงระยะทาง 20,000 – 40,000 กิโลเมตร หรือทุก 1-2 ปี จะช่วยให้ระบบเบรกทำงานได้เต็มประสิทธิ ภาพ
  • ยางรถยนต์ ดอกยางละเอียดและมีความสูงไม่ต่ำกว่า 2.5 mm ร่องยางลึก ไม่มีรอยปริ แตก บวม และเติมลมยางให้มากกว่าปกติ 2 – 3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อให้หน้ายางแข็งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีดน้ำ และยึดเกาะถนน

ทั้งนี้ การเติมลมยางให้มากกว่าค่ามาตรฐานเล็กน้อย จะช่วยให้ยางยึดเกาะถนนมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการรีดน้ำออกจากหน้ายาง

  • สัญญาณไฟ แสงไฟส่องสว่างทุกดวง โคมแก้วครอบสัญญาณไฟ สะอาดและไม่มีรอยขู่นมัว ปรับตั้งไฟให้ส่องสว่างในระยะที่เหมาะสมและอยู่ในระดับเดียวทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้ การเปลี่ยนไฟหน้าที่มีแสงสว่างมากกว่ามาตรฐาน จะทำให้แสงไฟสะท้อนกับละอองฝน ส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางลดลง
  • กระปุกฉีดน้ำ ไม่มีรอยรั่วซึม หัวฉีดน้ำไม่อุดตันและเติมน้ำไม่ให้พร่อง
  • อุปกรณ์ฉุกเฉิน อาทิ ยางอะไหล่ ไฟฉาย อุปกรณ์ลาก พ่วง จูง สายพ่วงแบตเตอรี่ สเปรย์ไล่ความชื้น ควรมีติดไว้ประจำรถ

ทั้งนี้ การหมั่นตรวจสอบ และดูแลระบบต่างๆของรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ถือเป็นแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้การขับรถในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบเบรก ระบบปัดน้ำฝน
ยางรถยนต์ และสัญญาณไฟ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบดำเนินการซ่อมแซม โดยช่างผู้ชำนาญงาน และควรหมั่นบำรุงรักษา ตรวจสอบอุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น