แม่ฮ่องสอน ติดเชื้อโควิด เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 45 ราย

 

แม่ฮ่องสอน ติดเชื้อโควิดจากกรุงเทพ ฯ มาระบาดที่อำเภอขุนยวม เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 5 ราย ก่อนหน้านั้น กลับจากไปเยี่ยมแม่ที่ กทม.ฯ พบติดเชื้อ 2 ราย ต่อมาพบผู้สัมผัสมีความเสี่ยงสูงไปตรวจหาเชื้อจึงพบเพิ่มอีก 3 ราย รวมผู้ติดเชื้อทั้งหมดของแม่ฮ่องสอน รวมทั้งหมด 45 ราย รักษาหายไปแล้ว 40 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ล่าสุดผ่อนผันให้สถานศึกษาจัดสอบได้ รวมไปถึงขยายเวลาปิดร้านอาหารจาก 22.00 น. เป็น 24.00 น. แต่ยังคงห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนเดิม

 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 – 12.30 น. นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ 16/2564 ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ภายหลังการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ขณะนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบ ผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกใหม่เมษายน 2564 ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 จำนวนทั้งสิ้น 45 ราย กระจาย ใน 6 อำเภอ อำเภอปาย 16 ราย อำเภอแม่สะเรียง 10 ราย อำเภอขุนยวม 8 ราย อำเภอปางมะผ้า อำเภอสบเมย อำเภอละ 5 ราย และอำเภอเมือง 1 ราย ส่วนอำเภอแม่ลาน้อยยังไม่พบผู้ติดเชื้อ. โดยผู้ป่วยทั้ง 45.ราย จำแนกเป็นเพศชาย 25 ราย (55.56%) เพศหญิง 20 ราย (44.44%) โดยมีปัจจัยเสี่ยงในระยะแรก ๆ จากการไปเที่ยวสถานบันเทิง หรือทำงานในสถานบันเทิง ส่วนในระยะหลัง เป็นปัจจัยเสี่ยงจากการเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน โดยในวันนี้มีผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 20 ราย พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

 

 

ผู้ป่วยรายที่ 43- 45 รายที่ 43 ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 40ปี รายที่ 44 ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 8 ปี และ รายที่ 45 ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 10 ปี ทั้งหมดเป็นเครือญาติ อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอขุนยวม โดยผู้ป่วยรายที่ 43 ให้ประวัติว่า ตนทำงานเป็นแม่บ้าน ดูแลผู้สูงอายุ ที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. ได้เดินทางไปรับหลาน (ผู้ป่วยรายที่ 41-42) ที่เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับอำเภอขุนยวม โดยรถโดยสารประจำทางสมบัติทัวร์ ถึงอำเภอขุนยวม ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 07.00 น. และได้กักตัวอยู่ที่บ้าน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย กระทั่ง วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ได้รับทราบข่าวว่าแม่ และพ่อเลี้ยงของหลาน (ผู้ป่วยรายที่ 41-42) ที่อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันขณะพัก อยู่ที่กรุงเทพฯ ติดเชื้อ COVID-19 จึงได้ประสานโรงพยาบาลขุนยวม เพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 ให้กับหลาน ทั้ง 2 คน ซึ่งผลปรากฏพบเชื้อ จากนั้น ผู้ป่วยรายที่ 43 – 45 ซึ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง จึงได้รับการตรวจเมื่อวันที่ 16 พ.ค 2564 ผลการตรวจพบเชื้อเช่นเดียวกัน ทั้งหมด จึงได้ถูกส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ แม่ฮ่องสอน

 

 

นายเอกชัย คำลือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้ป่วยทั้ง 45 ราย นั้น มีผู้ที่ได้รับการดูแลรักษาครบ 14 วัน จนอาการหายเป็นปกติแล้ว แพทย์อนุญาตให้กลับไปเฝ้าระวังสังเกตอาการต่อที่บ้านอีก 14 วัน จำนวน 40 ราย และมีผู้ป่วย 5 ราย ยังคงรับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ทั้งนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วย.COVID-19.จำนวนทั้งหมด 116.เตียง ปัจจุบันรับผู้ป่วยไว้รักษา 5 เตียง ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก 111 เตียง

สำหรับการดำเนินงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ได้ดำเนินการเร่งรัดให้ทีมสอบสวนโรคอำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง ดำเนินการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย มารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการครบทุกคนแล้ว ผลปรากฏพบเชื้อ ๓ ราย ดังที่กล่าวมาแล้ว นั้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (Low risk contact) จำนวน 8 ราย ที่ยังต้องเฝ้าระวัง ติดตาม อาการต่อไป

สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกคำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนฉบับที่ผ่านมาซึ่งยังมีผลบังคับใช้ และนำข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๓) มาทบทวน และประกอบการพิจารณา เพื่อกำหนดมาตรการให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในจังหวัด โดย มีสาระสำคัญ ได้แก่

 

๑. อนุญาตให้โรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคาร สถานที่ เพื่อการเรียน การสอน หรือ การสอบ ภายใต้เงื่อนไขต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้มีแผนการเรียนการสอน แผนการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ โดยศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) และแผนเผชิญเหตุในกรณีฉุกเฉิน

 

๒. ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทุกคน สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกเคหสถาน หรือ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ยกเว้นกรณีเป็นผู้ขับขี่รถยนต์และไม่มีผู้โดยสารอื่น หรือ กรณีการจัดประชุม ที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเข้มงวดแล้ว อาจผ่อนผันให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถถอดหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ในช่วงเวลาที่ทำหน้าที่อภิปราย

๓. ขยายเวลาการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม และการบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา แต่ยังคงห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

๔. ขอความร่วมมือให้บุคลากรของรัฐและประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนงดหรือชะลอ การเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่มีเหตุจำเป็น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

๕. ให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) ปฏิบัติการช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกระทรวงสาสุข กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งรัดเตรียมความพร้อม พัฒนาการปฏิบัติงาน ขับเคลื่อนภารกิจ กระจายและแจกจ่ายวัคซีน การลงทะเบียนรับวัคซีน การฉีดวัคซีน รวมทั้งการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อมุ่งลดจำนวนผู้ป่วยและให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับชุมชน อำเภอ และจังหวัดต่อไป ส่วนการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคอื่น ๆ ยังเป็นไปตามตามแนวทางในคำสั่งฉบับเดิม

ร่วมแสดงความคิดเห็น