(มีคลิป) ม.แม่โจ้ เร่งฆ่าเชื้อภายใน รพ.สนาม หลังปิดทำการรับผู้ป่วยโควิด-19 มาแล้ว 11 วัน โดยนำร่องใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์ ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot) เสริมศักยภาพในการทำความสะอาด

วันที่ 18 พ.ค.64 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณภายในศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเคยเปิดใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของจังหวัดเชียงใหม่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ต้องขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สนับสนุนให้ใช้สถานที่ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการจัดทำโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่

โดยมีโรงพยายาลสันทราย อำเภอสันทราย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข รวมถึงมีการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งในช่วงเดือนพฤษภาคมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น เริ่มมีสถานการณ์ที่คลี่คลายลง มีผู้ป่วยติดเชื้อน้อยลงและโรงพยาบาลสนามมีพื้นที่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ ทำให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ มีมติดำเนินการปิดการใช้โรงพยาบาลสนามแม่โจ้ลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 ที่ผ่านมา

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ทางด้าน รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการทำความสะอาดพื้นที่ภายในศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ที่เคยมีการใช้เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายหลังจากที่วานนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการใช้โดรนการเกษตร บังคับฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อไปแล้ว และในวันนี้ได้มีการประสานขอความร่วมมือสนับสนุนจาก บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด นำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot) เข้ามาทำความสะอาด ซึ่งได้รับการวิจัยแล้วว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพสูง และใช้หุ่นสำเภาสำหรับการยกของ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำความสะอาดภายในโรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแม่โจ้ และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot) และหุ่นสำเภา I รถฟอร์คลิฟท์อัตโนมัติสำหรับการเคลื่อนย้ายสิ่งของ นำทางด้วยรีโมทคอนโทรล นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์สำเภา II ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารอัจฉริยะ นำทางด้วยระบบ Lidar Sensor, หุ่นยนต์สำเภา III ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ขนส่ง เคลื่อนย้าย และลำเลียงสินค้าแบบอัตโนมัติ นำทางด้วยแถบแม่เหล็ก และหุ่นยนต์แม่ไทร ซึ่งเป็นหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ควบคุมทางไกล แสดงผลการรักษา, วิดีโอคอลพูดคุยกับผู้ป่วย, ส่งอาหาร และส่งยาเป็นต้น ซึ่งการทำงานของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี แบบ 360 องศา ส่งผลให้สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้สูงถึง 99.9% ในเวลารวดเร็ว และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อไป

ทั้งนี้ทางด้าน รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า หลังจากที่ปิดโรงพยาบาลสนามแม่โจ้ไปตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.64 โดยมีผู้ป่วยในชุดสุดท้าย 9 คน และได้ย้ายผู้ป่วยไปอยู่ใน Hospitech แทนจากนั้นได้ทำการปิดโรงพยาบาลสนามไว้เป็นระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 7- 17 พ.ค.64 โดยมีการนำโดรนเข้าไปพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อให้ครอบคลุมทั่วบริเวณแล้วปิดทิ้งไว้ ในวันนี้นำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun UV Robot) เข้าไปฆ่าเชื้อนาน ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วอบทิ้งไว้ ส่วนพรุ่งนี้จะมีกิจกรรม Big Cleaning เพื่อคืนพื้นที่ให้กับทางมหาวิทยาลัยต่อไป สร้างความให้มั่นใจให้แก่บุคลากร นักศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบข้างว่าจะมีความสะอาดปลอดภัย ปลอดจากเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการปิดโรงพยาบาลสนามไปแล้ว แต่ก็ยังมีการสำรองอุปกรณ์ เตียงนอน ต่างๆ เก็บไว้ภายในโรงพยาบาลสนามอยู่ โดยมีการอบฆ่าเชื้อเก็บไว้อย่างดี เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจมีความจำเป็นต้องเปิดใช้โรงพยาบาลสนามอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมี Hospitech หรือ สถานพักฟื้นและดูแลสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : MJU Well – being Hospitech ที่ได้ลงนามความร่วมมือกับทางอำเภอสันทราย และโรงพยาบาลสันทราย ทั้งหมดสามารถรองรับได้กว่า 100 เตียง มีลักษณะเป็นห้องๆ พักคล้ายกับโรงแรม ซึ่งผู้ป่วยที่ผ่านการดูแลรักษามาในระดับหนึ่งแล้ว สามารถเข้ามาพักได้ และถ้าหากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น และสถานการณ์อยู่ในความวิกฤตมากกว่านั้น ก็ยังสามารถกลับมาใช้โรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้อีกครั้ง ซึ่งสามารถรองรับได้ 400 เตียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น