เรือนจำกลางเชียงใหม่ พบเพิ่ม 50 ราย วันนี้ไทยพบผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 1,408 ราย ยอดผู้ต้องขังติดเชื้อสะสม 12,474 ราย

วันที่ 18 พ.ค. 2564 นายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ ชี้แจงกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำที่มีตัวเลขสูงจนกลายเป็นความกังวลต่อประชาชนในช่วงนี้ ผ่านการแถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า กรมราชทัณฑ์มีการติดตามมาตลอดนับตั้งแต่มีการระบาดตั้งแต่ปี 2563 โดยขณะนั้นมีการติดเชื้อในจำนวนหลักสิบสอดคล้องสถานการณ์ในประเทศ ขณะที่ปี 2564 ทางกรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อตั้งแต่ช่วงต้น เม.ย. และมีการขยายเวลากักโรคเป็น 21 วัน ต่อมามีการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมในแดนเด็ดขาด ปรากฏพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่ถึงหลักร้อย จากนั้นในช่วงต้น พ.ค. มีนโยบายตรวจคัดกรอง 100% ปูพรมในเรือนจำที่มีการรับผู้ต้องขังใหม่เป็นหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่มีการระบาดใหญ่ โดยในช่วงเวลา 3 วัน ตรวจ 4 เรือนจำ 100% ผู้ต้องขังประมาณ 20,000 กว่าราย พบการระบาด 25-50%

สำหรับสาเหตุการระบาดสันนิษฐานว่าเชื้อโควิด-19 มีระยะฟักตัวนานขึ้น ตรวจไม่พบในช่วงการกักตัว 14 วัน จนต้องขยายเวลาเป็น 21 วัน อีกทั้งมีการหมุนเวียนผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำบ่อยครั้ง เดินทางไป-กลับศาล ไปโรงพยาบาลภายนอก จึงทำให้ไม่สามารถเกิด Bubble and Seal ได้ และปัจจุบันตัวเลขน่าจะเริ่มคงที่ หากพบติดเชื้อน่าจะอยู่ในหลักร้อยจากการตรวจซ้ำหลังครบ 7 วันในรายที่ผลเป็นลบ
ส่วนเรื่องการรักษากรมราชทัณฑ์ได้สำรองยาต้านไวรัส หรือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ให้ครอบคลุมผู้ป่วยในขณะนี้ โดยเป็นผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6,000 กว่าราย มีการจัดระบบอุปกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์คอยดูแล ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้เนื่องจากมีนโยบายที่จะเริ่มให้ยาตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ ยังมีส่วนที่แก้ปัญหาไม่ได้คือ การรับผู้ต้องขังรายใหม่ เนื่องจากภานยอกยังมีภาวะการระบาดและติดเชื้อค่อนข้างสูง ถ้ายังรับรายใหม่ก็จะบริหารจัดการด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องเพิ่มพื้นที่กักแยกออกมาอีก
“ปัจจุบัน เนื้อที่กรมราชทัณฑ์จะจัดให้เกิดโรงพยาบาลสนามยังมีเพียงพอ แต่ยังติดในเรื่องของการเตรียม กรมราชทัณฑ์ของบกลางจากรัฐบาลด้วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นพบภายในซึ่งจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือ รวมถึงจัดซื้อยาที่จำเป็น ทั้งยาในและนอกบัญชียาหลัก พื้นที่กรมราชทัณฑ์รองรับผู้ป่วยได้สีเขียวและสีเหลือง เว้นสีแดง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มี Ventilator (เครื่องช่วยหายใจ) อยู่ 5-6 เครื่อง จึงไม่เพียงพอ”

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการที่ผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำมีสาเหตุจากการต้องรับผู้ต้องขังรายใหม่ แต่จะต้องตรวจหาโควิด-19 ให้เร็วที่สุด ขอให้ประชาชนมั่นใจและอย่าเป็นห่วงผู้ต้องขังเหล่านี้ เพราะกรมราชทัณฑ์มีกระบวนการดูแลเต็มที่ อีกทั้งมีการแจ้งต่อญาติของผู้ต้องขังถึงอาการเจ็บป่วย ล่าสุด ก็มีแผนที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อไป

ทางด้าน นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้คำตอบถึงกรณีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวหรือพ้นโทษแต่ยังติดเชื้อโควิด-19 จะมีการส่งตัวอย่างไร ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบจัดหาโรงพยาบาลรองรับให้จนกว่าจะครบกำหนดการรักษา ขอให้กรมราชทัณฑ์ประสานข้อมูลเรื่องวันปล่อยตัว เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้ารับการดูแลต่อไป

สำหรับข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา พบผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 1,408 ราย ยอดผู้ต้องขังติดเชื้อสะสม 12,474 ราย โดยรายใหม่แบ่งเป็นดังนี้

เรือนจำกลางเชียงใหม่ 50 ราย
ทัณฑสถานหญิงกลาง 245 ราย
เรือนจำกลางคลองเปรม 159 ราย
เรือนจำพิเศษธนุบรี 277 ราย
เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา 7 ราย
เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 342 ราย
เรือนจำกลางบางขวาง 328 ราย

นอกจากนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่วันนี้พบติดเชื้อเพิ่มอีก 12 ราย จาก เรือนจำกลางเชียงใหม่ 3 ราย, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1 ราย, ทัณฑสถานหญิงกลาง 1 ราย, เรือนจำกลางคลองเปรม 1 ราย, เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 5 ราย และเรือนจำกลางบางขวาง 1 ราย รวมเจ้าหน้าที่ติดเชื้อสะสม 109 ราย.

ร่วมแสดงความคิดเห็น