คำถาม มีคำตอบ ผู้ป่วยโรคมะเร็งกับวัคซีนโควิด-19

ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ “ผู้ป่วยโรคมะเร็ง” เป็นเรื่องที่ดีว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้การติดเชื้อลดลง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรครุนแรงก็จะมีโอกาสเสียชีวิตที่ลดลงด้วย ดังนั้น จึงมีความสำคัญมากในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อผู้ป่วย

เหตุผลที่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรจะฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นในร่างกายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ตัวโรคเองก็จะทำให้ผู้ป่วยมีการต่อสู้ต่อการติดเชื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป การรักษาหลายอย่างทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยลดลง การต่อสู้ต่อการติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อโควิดก็ลดลงด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อเรามีวัคซีนแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มแรกๆที่ควรจะได้วัคซีนก็คือ ผู้ป่วยกลุ่มมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งคนไหนที่ควรจะได้วัคซีน

คำตอบก็คือ ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19

ผู้ป่วยมะเร็งมีความหลากหลายมาก โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก คือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัย โดยยังไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาหายแล้ว โดยกลุ่มนี้สามารถฉีดวัคซีนได้เลยทันที

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่กำลังได้รับการรักษาอยู่ เช่น การรับประทานยาซึ่งจะมาพบแพทย์ค่อนข้างบ่อย เช่น ทุกเดือนหรือทุกสองเดือน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็สามารถฉีดวัคซีนได้เลยทันที

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่รับยาฉีด เช่น ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือ ยาฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็สามารถรับวัคซีนได้ทันที

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษา ก็สามารถรับวัคซีนได้ทันทีเช่นเดียวกัน

กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องระวังมากขึ้น ส่วนใหญ่จะให้เว้นระยะหนึ่งก่อนเพื่อให้ฟื้นตัว และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆของการรักษา ส่วนใหญ่จะให้รอประมาณ 3 เดือน ถึงจะสามารถฉีดได้

ในทางปฏิบัติผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคมะเร็ง เช่น รับยาเคมีบำบัด ฉายแสง สามารถฉีดวัคซีนวันเดียวกันกับวันที่รักษามะเร็งได้เลยได้หรือไม่

คำตอบคือ สามารถฉีดได้เลย เพียงแต่ว่า สถานที่รับยากับสถานที่ฉีดวัคซีนอาจจะอยู่คนละที่กัน ซึ่งอาจจะต้องดูคิวในทางปฏิบัติ

วัคซีนโควิด-19 ตัวไหนที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง

คำตอบคือ “วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยมะเร็ง”

ติดตามได้ที่ : FB: https://fb.watch/5VvGLJmFQD/

ข้อมูลโดย
รศ.นพ.ชัยยุทธ เจริญธรรม
อาจารย์หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น