ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และเกล็ดเลือดต่ำ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 (VITT)

ภาวะ VITT คือการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ ที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการรายงานพบภาวะ VITT ได้หลังการฉีดวัคซีนอยู่ 2 ชนิดคือ AstraZeneca และ Johnson & Johnson กลไกที่ทำให้เกิดภาวะ VITT เกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนบางส่วน ที่ทำให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน และเกล็ดเลือดต่ำ

สำหรับอุบัติการณ์ในการเกิด VITT ประชากรทั่วไปจะพบได้ประมาณ 1 ต่อแสนประชากร ส่วนผู้สูงอายุจะพบได้น้อยมาก โดยผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปีจะพบได้ 1 ต่อล้านของประชากรที่ฉีดวัคซีน แต่ถ้ามีอายุน้อยกว่า 55 ปีจะพบได้บ่อยขึ้นพบได้ 1 ต่อ 50,000 ของประชากร ส่วนใหญ่พบในผู้หญิง อาการมักจะเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 1-2 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก แต่สามารถพบได้ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 30 วันหลังจากฉีดวัคซีน อาการขึ้นอยู่กับว่าลิ่มเลือดอุดตันที่อวัยวะใด โดยส่วนมากจะพบที่หลอดเลือดดำของสมอง

อาการเริ่มต้นอาจจะมีมึนศีรษะ ปวดศีรษะ และปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้อาเจียน ตามัว แขนขาอ่อนแรง และชักได้ รองลงมาจะมีลิ่มเลือดอุดตันในช่องท้องก็จะมีอาการปวดท้องตอนแรก อาจจะอาการไม่มาก ถ้าทิ้งไว้ก็อาจจะมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการเหล่านี้อาจจำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาล ส่วนอาการที่พบน้อย จะเป็นภาวะที่มีเลือดออก เพราะภาวะ VITT เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ อาจจะมีจ้ำช้ำ จุดเลือดออกเล็กๆ

การวินิจฉัยภาวะนี้จะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบคือ
1. .มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ถ้ามีอาการสงสัย ก็อาจจะต้องส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ตามอวัยวะนั้นๆที่มีอาการ โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมาด้วยอาการอะไร
2. ปริมาณเกล็ดเลือดเลือดของคนไข้ที่จะต่ำลงในภาวะ VITT
3. การตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างขึ้นมา เพื่อต่อต้านเกล็ดเลือดของตัวเองเป็นการตรวจที่จำเพาะเจาะจงต่อภาวะ VITT

สำหรับการรักษา จะคล้ายกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่ การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้เนื่องจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาจจะต้องระมัดระวังมากกว่าผู้ป่วยทั่วๆ ไป การรักษาที่อาจจะต้องเพิ่มเติมมาก็คือการให้ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIG) เพื่อไปยับยั้งภูมิคุ้มกันที่มากเกินปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้

ติดตามได้ที่ FB : https://fb.watch/5T5hW844K_/
YouTube: https://youtu.be/DxLBL1hv_Mc

ข้อมูลโดย
อ.พญ.ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา
หัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ.ดร.นพ ชาตรี ชัยอดิศักดิ์โสภา
อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น