จ.เชียงใหม่ ร่วมรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ คาดขยะไม่เกิน 3 เดือนล้น

รองผู้ว่าฯ พร้อม นายก อบจ.เชียงใหม่ และ นอภ.ดอยสะเก็ด ร่วมประชุมรับฟังข้อเรียกร้อง หลังชาวบ้านรอบโครงการศูนย์จัดการขยะครบวงจร พร้อมอบ จ.เชียงใหม่ เรียกร้องให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ หวั่นปัญหาผลกระทบเหตุบ่อฝังกลบคาดไม่เกิน 3 เดือนเต็มจนล้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์จัดการขยะครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ บ้านป่าตึงหมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ และนายกิตติพัฒน์ กะวัง นอภ.ดอยสะเก็ด นายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.สำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อร้องเรียนของชาวบ้านรอบโครงการศูนย์จัดการขยะฯ โดยมีผู้นำชุมชน ส.อบจ.เชียงใหม่ เขต อ.ดอยสะเก็ด และตัวแทนชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะด้วย

นายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี ผู้จัดการ ศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจร อบจ.เชียง ใหม่ บริษัท วีพีเอ็น คอลเล็กชั่นส์ จำกัด ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์จัดการขยะฯ แห่งนี้ว่า ทางบริษัทวีพีเอ็น คอลเล็คชั่นส์ จำกัดได้เข้ามาบริหารจัดการขยะฯเมื่อปี 2548 โดยใช้ระบบคัดแยกและฝังกลบ โดยปริมาณขยะที่เข้าสู่โรงงานเฉลี่ยวันละประมาณ 100 ตัน ขณะที่กำลังการผลิตสามารถรองรับได้ถึง 300 ตัน โดยรองรับขยะจากพื้นที่โซนกลาง 4 อำเภอคือ อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.สันกำแพง และ อ.แม่ออน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้บ่อฝังกลบขยะที่มีเนื้อที่กว่า 40 ไร่ ใกล้จะเต็มแล้วโดยคาดว่าจะสามารถรองรับขยะได้ถึงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 64 นี้เท่านั้น แม้จะมีการต่อคันดินขึ้นมาสูงถึง 5 เมตรแล้วก็ตาม

นายรัฐพล นราดิศร รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทาง จ.เชียงใหม่ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการขยะ เพราะเกรงว่าหากศูนย์จัดการขยะฯแห่งนี้เต็ม ทาง จ.เชียงใหม่ และอบจ.เชียงใหม่ได้มีแผนการรองรับหรือไม่อย่างไร ซึ่งทาง นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ตนลงพื้นที่พร้อม นายกิตติพัฒน์ กะวัง นอภ.สะเก็ด เพื่อร่วมประชุมและรับฟังความเห็นพร้อมกับ นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ และคณะ ซึ่งทางราชการไม่ได้นิ่งนอนใจกับข้อกังวลของประชาชน จึงต้องลงพื้นที่มาเพื่อดูสถานที่จริงและรับฟังความเห็นต่าง ๆ

“จ.เชียงใหม่ ได้แบ่งโซนในการบริหารจัดการขยะออกเป็น 3 โซน และบ่อขยะที่ฝังกลบถูกวิธีและถูกต้องมี 3 แห่ง คือที่ อ.ฝาง ซึ่งรับผิดชอบโซนเหนือ โซนกลางมี อบจ.เชียงใหม่เป็นหลัก และโซนใต้มีที่บ้านตาล ซึ่งข้อเสนอหรือความเห็นจากการประชุมครั้งนี้ ทางส่วนราชการจะนำไปพิจารณาเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ข้อห่วงใยต่างๆ เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

จากนั้นตัวแทนชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้นำเสนอปัญหา ข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เรียกร้องขอความชัดเจนเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการขยะของศูนย์จัดการขยะของ อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เพราะเกรงว่าหากยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ เนื่องจากศูนย์จัดการขยะฯแห่งนี้ เปิดดำเนินการมานาน และบ่อฝังกลบขยะใกล้จะเต็ม อีกทั้งปัจจุบันเกิดภาวะโรคโควิด-19 มีการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปเป็นจำนวนมาก จึงเกรงว่าจะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างร้ายแรง และมีปัญหาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งชาวบ้านอยากให้ อบจ.เชียงใหม่เร่งดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะโดยเร็ว

ทางด้านนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทาง อบจ.เชียงใหม่ ไม่ได้นิ่งนอนใจหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ ซึ่งการมาครั้งนี้เพื่อฟังความเห็นจากประชาชนว่ามีข้อเสนอแนะอย่างไร และก่อนที่จะมาก็ได้เข้าไปปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่มาแล้ว โดย อบ จ.เชียงใหม่ มีโครงการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งได้มีการเปิดประมูลหาผู้ลงทุนแล้ว โดยโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ จะเป็นการก่อสร้างที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน 100% ประมาณมูลค่าโครงการไว้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และได้ตั้งราคากลางไว้ 1,800 ล้านบาท ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทีโออาร์ทำการร่างเงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน และได้เผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการโดยทั่วไป ถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะประกาศคัดเลือกเอกชนด้วยการประกวดราคา

“โครงการนี้ก่อนการดำเนินการขออนุมัติโครงการจากกระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโครงการแล้ว ซึ่งประชาชนก็เห็นด้วย หลังจากได้รับการอนุมัติโครงการจึงได้เปิดให้มีการยื่นซองประกวดราคา และมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณา 1 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการพิจารณาผลการคัดเลือกขอใช้เวลา ในการพิจารณาคุณสมบัติอย่างละเอียด รอบคอบโดยคณะกรรมการ 7 คน ประกอบด้วยข้าราชการ อบจ. 4 คน และนักวิชาการอีก 3 คน กำลังพิจารณากันอยู่ จึงขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชน ว่าถ้าหากคุณสมบัติของบริษัทที่ยื่นซองมาถูกต้องครบถ้วนทุกประการก็จะไม่ดึงเรื่องไว้ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจและถูกต้องร่วมกัน ขอให้พี่น้องประชาชนทำหนังสือสนับสนุนให้ทาง อบจ.เชียงใหม่ ดำเนินการอีกทางหนึ่งงด้วย ซึ่งหากทุกอย่างถูกต้องครบถ้วน และเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทาง อบจ.เชียงใหม่จะดำเนินการทันที” นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวชี้แจง

ร่วมแสดงความคิดเห็น