ลงพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย ติดตามผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟูแหล่งน้ำ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำ

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายบำรุง สังข์ขาว หัวหน้าสำนักงานจังหวัดฯ นายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ และ ดร.ชูชาติ คำมา นายอำเภอแม่ลาน้อย เดินทางลงพื้นที่ บ้านละอูบ หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย  เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟูแหล่งน้ำ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 กรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำ สนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย (บ้านละอูบ โซน A) งบประมาณ 14,900,000 บาท และ 2.โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นบ้านละอูบ พร้อม ระบบกระจายน้ำ สนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย (บ้านละอูบโซน B) งบประมาณ 45,847,000 บาท

นายสมเดช วรรณก้อน ผู้อำนวยการ ส่วนประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำสาละวิน กรมทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวว่า สำนักทรัพยากรน้ำภาค 1 ได้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟูแหล่งน้ำ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 4 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 70,778,600 บาท ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำ สนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย (จำนวน 4 แห่ง) งบประมาณ 565,600 บาท

และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำสนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย (บ้านละอูบโซน A) งบประมาณ 14,900,000 บาท ผลการดำเนินงาน จำนวน 50% 2. โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำ สนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ (บ้านกลอเซโล) งบประมาณ 9,466,000 บาท ผลการดำเนินงาน 97% และ 3. โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นบ้านละอูบ พร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย (บ้านละอูบ โซน B) งบประมาณ 45,847,000 บาท ผลการดำเนินงาน 45%

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนบนพื้นที่สูง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในพื้นที่ดำเนินการของโครงการหลวง ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่สูง มีปัญหาด้านระบบการกักเก็บและระบบกระจายน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร และอุปโภค-บริโภค หากโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตร ตลอดจนให้บรรลุถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน บนพื้นที่สูงในโครงการและบริเวณใกล้เคียงอย่างยั่งยืน และมีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อไป

ทศพล / แม่ฮ่องสอน

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น