(มีคลิป) สาวเชียงใหม่เตือนภัยแก๊งเงินกู้นอกระบบออนไลน์ซ้ำเติมคนเดือดร้อนโควิด-19 หาเหยื่อผ่านเฟซบุ๊ค

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากแก๊งเงินกู้นอกระบบและข่มขู่คุกคามทวงหนี้รูปแบบเดิมที่ส่งคนไปทวงหนี้ถึงบ้าน ซึ่งระบาดทั่วไปหลายพื้นที่ และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมากแล้ว ขณะนี้พบว่ายังมีแก๊งเงินกู้นอกระบบและข่มขู่คุกคามทวงหนี้รูปแบบใหม่ ที่ใช้วิธีหาเหยื่อผ่านทางช่องทางออนไลน์ และมีการนำแอปพลิเคชั่นมาใช้ โดยให้เหยื่อที่กำลังเดือดร้อนเรื่องเงินทำการโหลดแอปพลิเคชั่นลงโทรศัพท์พร้อมบังคับขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว พร้อมยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนก่อนที่จะปล่อยกู้ให้โดยมีการหักเงินจากยอดที่กู้ไว้ก่อนในอัตราที่สูงและคิดอัตราดอกเบี้ยสุดโหด เมื่อเหยื่อไม่สามารถชำระคืนให้ได้ตามเงื่อนไข แก๊งดังกล่าวจะข่มขู่คุกคามต่างๆ นานากับเหยื่อโดยตรง รวมทั้งโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปทวงหนี้กับเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ที่มีข้อมูลในมือถือของเหยื่อด้วย ซึ่งเบื้องต้นพบว่าที่จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งเงินกู้นอกระบบออนไลน์จำนวนมากเช่นกัน

ทั้งนี้นางสาวรจนา (นามสมมติ) อายุ 45 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้เดือดร้อนจากแก๊งเงินกู้นอกระบบออนไลน์ เปิดเผยว่า ตัวเองและครอบครัวเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังคงมีอยู่เช่นเดิม เมื่อต้นเดือน มิ.ย.64 มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อเงินกู้ส่วนบุคคลของธนาคาร และระหว่างที่ใช้เฟซบุ๊คอยู่นั้น ได้มีโพสต์โฆษณาเกี่ยวกับการให้กู้เงินที่ดูเหมือนเป็นของธนาคารจริงๆ อีกทั้งมีการโฆษณาเชิญชวนว่าอนุมัติสินเชื่อง่ายโดยไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานและไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน จึงเกิดความสนใจและลองกดเข้าไปดูรายละเอียด ปรากฏว่าได้เชื่อมต่อเข้าไปให้ทำการโหลดแอปพลิเคชั่นชื่อ “Quick Cash” หากต้องการที่จะกู้เงิน ซึ่งตัวเองมีจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 50,000 บาท จึงได้ตัดสินใจโหลดแอปพลิเคชั่นดังกล่าวลงในโทรศัพท์มือถือ

โดยในการโหลดแอปพลิเคชั่นนั้น ระบบมีการบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ผู้ติดต่อ,ภาพถ่าย,เฟซบุ๊ค และไลน์ เป็นต้น ซึ่งตัวเองได้ยินยอมไป พร้อมทั้งแจ้งยอดวงเงินที่ต้องการ จากนั้นเมื่อเข้าระบบแอปพลิเคชั่นได้จะปรากฏรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่คุ้นชื่อเลยประมาณ 20 ราย และแต่ละรายจะกำหนดวงเงินกู้ในรายละประมาณ 4,000-5,000 บาท โดยครั้งแรกตัวเองได้ตัดสินใจกู้เงินจากผู้ให้บริการรายหนึ่งในแอปพลิแคชั่นดังกล่าวจำนวน 4,110 บาท ตามวงเงินที่ได้รับ มีเงื่อนไขชำระคืนจำนวนดังกล่าวภายใน7วัน พร้อมดอกเบี้ยประมาณ 200 บาท

ขณะที่ก่อนที่จะมีการอนุมัติและโอนเงินมาให้นั้น จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาให้ตัวเองทำการยืนยันตัวตนด้วยการวิดีโอคอล,ขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขบัญชีธนาคาร ซึ่งตัวเองได้ทำตามทุกอย่างจนครบถ้วน จากนั้นทางผู้ให้บริการรายนี้ได้โอนเงินเข้าบัญชีให้เพียง 2,345 บาท เท่านั้น โดยอ้างว่าเงินที่หักไป 1,755 บาท เป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งเงินที่ได้รับไม่เพียงพอนำไปใช้จ่ายตามที่ต้องการ ตัวเองจึงจำเป็นต้องทยอยกู้กับผู้ให้บริการรายอื่นในแอปพลิเคชั่นเดียวกันอีก โดยในการกู้ครั้งต่อๆ มาไม่ต้องยืนยันตัวตัวซ้ำอีกแล้ว อย่างไรก็ตามได้รับเงินไม่เต็มจำนวนเช่นกัน เช่น กู้ 3,000 บาท ได้รับเงิน 1,950 บาท ,กู้ 5,000 บาท ได้รับ 3,000 บาท หรือกู้ 2,500 บาท ได้รับ 1,600 บาท เป็นต้น ซึ่งเบ็ดเสร็จรวมยอดกู้ประมาณ 50,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเพียงประมาณ 30,000 บาท

นางสาวรจนา เปิดเผยอีกว่า หลังจากที่กู้เงินมาแล้วครบกำหนด7วัน ตัวเองได้เริ่มชำระเงินคืนให้ โดยในส่วนที่ไม่สามารถชำระคืนได้เต็มจำนวนนั้น ทางผู้ให้กู้มีเงื่อนไขขยายเวลาให้อีก 7 วัน โดยเงินเป็นค่าธรรมเนียมคิดเป็นประมาณ 35%ของยอดเงินกู้ ซึ่งตัวเองก็ยินยอมทำตามด้วยดีเป็นเงินรวมแล้วประมาณ 10,000 บาท

อย่างไรก็ตามผ่านเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 เริ่มไม่สามารถหาเงินไปชำระคืนให้ได้ แม้แต่เพียงค่าธรรมเนียม ปรากฏว่าทางผู้ให้บริการได้โทรศัพท์ทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่คุกคามตลอดทั้งวันและทุกวัน นอกจากนี้ยังส่งข้อความและโทรศัพท์ไปข่มขู่คุกคามผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในข้อมูลโทรศัพท์ตัวเองอีกด้วย ซึ่งแต่ละคนต่างมาสอบถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้ตัวเองอับอายและเครียดหนักจนแทบทำมาหากินไม่ได้

เมื่อทางผู้ให้บริการได้โทรศัพท์ทวงหนี้ในครั้งต่อมา ตัวเองได้ร้องขอไม่ให้ไปข่มขู่คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องและพยายามเจรจาต่อรองขอชำระหนี้คืนให้ทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ได้รับจริง เพราะทางญาติผู้ใหญ่จะให้เงินช่วยเหลือเพื่อยุติเรื่องราวทั้งหมด แต่ทางฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินยอมและยังข่มขู่อีก ดังนั้นล่าสุดตัวเองจึงได้ตัดสินใจเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจแล้วว่า ตัวเองยอมรับว่าได้ทำการกู้ยืมเงินมาและจะชำระหนี้คืนให้ครบตามจำนวนที่กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะชำระต่อหน้าพนักงานสอบสวนและทำการลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ขณะเดียวกันขอให้ดำเนินคดีกับผู้ให้บริการรายนี้ในข้อหาเงินกู้นอกระบบด้วย

นอกจากนี้นางสาวรจนา บอกว่า อยากให้กรณีที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นอุทาหรณ์เตือนภัยสำหรับคนที่อาจจะกำลังเดือดร้อนและต้องการใช้เงินว่า อย่าหลงเชื่อเข้าไปใช้บริการเงินกู้ผ่านทางแอปพลิเคชั่นอย่างเด็ดขาด เพราะไม่เพียงแต่เฉพาะตัวเองเท่านั้นที่ต้องได้รับความเดือดร้อน แต่ยังรวมไปถึงคนรอบข้างที่ต้องมาถูกรังควาญจากคนกลุ่มนี้ที่มองว่าน่าจะเข้าข่ายมิจฉาชีพด้วย ซึ่งนอกจากรายที่ตัวเองหลงเชื่อแล้ว พบว่ายังมีผู้ให้บริการลักษณะเดียวกันนี้อีกเป็นจำนวนมากที่โพสต์โฆษณาอยู่ในเฟซบุ๊คและช่องทางออนไลน์ต่างๆ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายด้วย เพื่อไม่ให้ไปก่อปัญหาสร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมประชาชนที่ทุกข์มากพออยู่แล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ร่วมแสดงความคิดเห็น