พมจ.เชียงใหม่ ชูนวัตกรรมสมุดพกครอบครัว ขจัดปัญหาความยากจน “เรามีเรา…ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนเราจะตามไปช่วย”

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ชูนวัตกรรมสมุดพกครอบครัว ขจัดปัญหาความยากจน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น วันนี้ (22 มิ.ย. 64) ที่ห้อง POC อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นางสาววริสรา บุญมา หัวหน้ากลุ่มนโยบายและวิชาการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงนวัตกรรมสมุดพกครอบครัวในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ว่า จากข้อมูลระบบบริหารจัดการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TP Map (ปี 2562) จังหวัดเชียงใหม่มีครัวเรือนเปราะบางหรือครัวเรือนยากจน กว่า 50,234 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 5.1 ของประชากรที่ได้รับการสำรวจ (36ล้านคน) จังหวัดเชียงใหม่จึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.จ.) และมีคณะทำงาน 20 หน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ ขับเคลื่อนในระดับจังหวัดตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง ครอบคลุมในทุกมิติอย่างยั่งยืน

โดยที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลในสมุดพกครอบครัว ในพื้นที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และมีเป้าหมายในปี 2564 การให้ความช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางกว่า 2,000 ครัวเรือน ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีการตั้งคณะทำงานในสังกัด พม. หรือ “ทีม พม. One home เชียงใหม่” ลงพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ เพื่อสำรวจกลุ่มเปราะบางและวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนร่วมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้แนวคิด “เรามีเรา…ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนเราจะตามไปช่วย” สำหรับสมุดพกครอบครัว เป็นเครื่องมือสําหรับจัดเก็บข้อมูลรายครัวเรือน โดยจะให้เจ้าหน้าที่ พม´ที่ลงพื้นที่เป็นผู้บันทึกข้อมูล และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และประเมินสภาพปัญหาครัวเรือน เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อร่วมจัดทําแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรายครัวเรือนในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น