กรมอนามัย MOU การยางแห่งประเทศไทย พัฒนาสื่อดูแลช่องปากผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษ ​

วันนี้ (22 มิถุนายน 2564) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมกับ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้เพื่อสุขภาพและสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษ ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ในปี 2561 พบเด็กแรกเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ในระบบบัตรทอง จำนวน 1,092 คน จากเด็กแรกเกิดทั้งหมด 516,326 คน คิดเป็นอุบัติการณ์ 2.11 คนต่อทารกมีชีพ 1,000 คน ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้เพื่อสุขภาพและสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้วยยางพารา สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและผู้ปกครอง เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษ โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 1) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันนโยบาย จัดเตรียมเนื้อหาข้อมูลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก ออกแบบ จัดหาต้นแบบสื่อในการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้เพื่อสุขภาพและสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษ รวมทั้งจัดส่งสื่อให้แก่บุคลากรสาธารณสุข ผู้ปกครอง และผู้ดูแล 2) การยางแห่งประเทศไทย พัฒนาสูตรและวัสดุยางพาราที่มีความปลอดภัยในระดับการใช้งานภายในช่องปาก ขึ้นรูปต้นแบบสื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้วยวัสดุยางพารา และ 3) ร่วมดำเนินการ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ฐานข้อมูล และความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพ รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น


​“ทั้งนี้ การสนับสนุนความร่วมมือพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้ กรมอนามัยได้เตรียมข้อมูลเนื้อหาทางสุขภาพ และสุขภาพช่องปาก ออกแบบสื่อ เช่น โมเดลภาวะปากแหว่งเพดานโหว่สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและตุ๊กตาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่สำหรับการฝึกทักษะผู้ปกครอง พัฒนารูปแบบ และให้ข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ผลิตสื่อต้นแบบจากยางพารา ให้บุคลากรสาธารณสุขในเครือข่ายปฐมภูมิได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อส่งเสริมสุขภาพโดยใช้สื่อที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ในพื้นที่กับกลุ่มเป้าหมาย และร่วมประเมินผล เพื่อจะได้นำข้อเสนอแนะไปพัฒนาสื่อจากยางพาราให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีประสิทธิภาพในการเพิ่มความรอบรู้ให้แก่ผู้ดูแล ช่วยให้ผู้ป่วย ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษมีสุขภาพที่ดี ตลอดจนพัฒนาสื่อความรอบรู้จากยางพาราใน กลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษอื่น ๆ เช่น กลุ่มที่มีความพิการทางสายตา ต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ร่วมแสดงความคิดเห็น