(มีคลิป) สมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานหารือ 6 ประเทศ ตัดเส้นทางสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้าแหล่งผลิต

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อยกระดับการสกัดกั้นยาเสพติดภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 โดยมี

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะผู้บริหาร ป.ป.ส. เจ้าหน้าที่อาวุโสจากหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดประเทศกัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม และผู้แทนจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) เข้าร่วม วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการป้องกันไม่ให้มีการนำสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้าสู่พื้นที่ผลิตยาเสพติดสามเหลี่ยมทองคำและยกระดับการสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้ยาเสพติดถูกลักลอบลำเลียงออกสู่อนุภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆ

ณ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง)
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “การประชุมในครั้งนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการของนายสมศักดิ์ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ให้สำนักงาน ป.ป.ส.ประสานกับประเทศกลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ(UNODC) ประชุมหารือถึงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน เพราะถือว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศที่จะต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ตนได้หารือกับ นายเจรามี ดักลาส ผู้แทนประจำ UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และได้ประสานกับประเทศในกลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ โดยจัดให้มีการประชุมร่วมกันในวันที่ 5 ก.ค. 2564 โดยระบบวีดีโอคอนเฟอเร็นซ์

จากสำนักงาน ป.ป.ส.ไปยังประเทศดังกล่าว”
ปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 2562 ภายใต้แผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 – 2565) และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศภาคีมาโดยตลอด มีผลการดำเนินการสามารถจับกุมคดียาเสพติดได้กว่า 13,476 คดี ผู้ต้องหา 16,348 คน ตรวจยึดยาเสพติดได้จำนวนมาก และสามารถยึดสารตั้งต้น หรือเคมีภัณฑ์อื่นๆ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งปฏิบัติการ 1511 ได้กว่า 1,172,267 กิโลกรัม

สำหรับการประชุมในวันนี้ ทั้ง 6 ประเทศได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งการรับมือกับปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเอง และปัญหาที่ส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาค โดยประเทศไทยได้เสนอแนวทางให้ทุกประเทศดำเนินการร่วมกัน ดังนี้


1. สกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์มิให้รั่วไหลเข้าไปในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
2. จัดให้มีปฏิบัติการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปฏิบัติการคู่ขนานระหว่างประเทศร่วมกัน
3. เฝ้าระวังการลักลอบค้ายาเสพติดออนไลน์และการขนส่งยาเสพติดผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะพัสดุภัณฑ์ และการลักลอบลำเลียงยาเสพติดทางทะเลที่มีปริมาณและความถี่เพิ่มมากขึ้น
4. ขยายความร่วมมือในการสืบสวนปราบปรามเครือข่ายการค้ายาเสพติดรายสำคัญ
อย่างเต็มที่ ทั้งการทำลายวงจรและเครือข่ายการค้า การขยายผลยึดทรัพย์สิน และการติดตามผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้นำแนวคิด Ten X Rule มาบังคับใช้ ซึ่งไทยตั้งเป้าหมายที่จะยึดทรัพย์สินของนักค้ายาเสพติดให้ได้มากขึ้น 10 เท่า จากปีที่แล้วยึดได้ 600 ล้านบาท เป้าหมายในปีนี้จะต้องยึดให้ได้ 6,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันสามารถอายัดทรัพย์สินของนักค้ายาเสพติดได้แล้วกว่า 5,658 ล้านบาท
5. พัฒนากฎหมายในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ขึ้น กำลังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาวาระที่ 2
โดยรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมดมาเป็นกฎหมายฉบับเดียวเพื่อให้สะดวกต่อการบังคับใช้ มีการกำหนดให้นำมาตรการยึดทรัพย์สินตามมูลค่าที่นักค้ายาเสพติดได้ผลประโยชน์ หรือ Value-based Confiscation มาใช้ เพื่อที่จะลดทอนศักยภาพของกลุ่มนักค้ายาเสพติดให้ได้มากที่สุด การใช้มาตรการลดอันตราย หรือ Harm Reduction เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพและสาธารณสุขของบุคคลและสังคม
6. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคและนอกอนุภูมิภาคให้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
และจะนำมติที่ประชุมครั้งนี้เสนอให้รัฐมนตรีทั้ง 6 ประเทศ ในการประชุมพบปะกันเพื่อหารือความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ซึ่งในปีหน้า ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม MoU 7 ฝ่าย
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ แถลงถึงผลการเข้าเยี่ยมคารวะผู้แทนจากประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกาและเกาหลีใต้ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านยาเสพติด ประจำสถานเอกอัครทูต ผลของการเข้าเยี่ยมคารวะครั้งนี้ ทางคณะผู้แทนได้กล่าวชื่นชมบทบาทนำของประเทศไทยในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ในภูมิภาคร่วมกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และประเทศ นอกภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ ทุกประเทศมีความยินดีที่จะผลักดันความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคต่อไป และสนับสนุนบทบาทของไทยที่มีจุดยืนที่ชัดเจนและสามารถเป็นผู้นำให้ประเทศอื่น ๆ

ยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด ซึ่งจะเอื้อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การบังคับใช้มาตรการ ยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติด เพื่อลดทอนศักยภาพของกลุ่มองค์กรอาชญากรรม การควบคุมเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการปฏิบัติการร่วม ตลอดจนแสดงความพร้อมร่วมขับเคลื่อนปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เช่น Task Force Storm โครงการความร่วมมือสกัดกั้นยาเสพติด ณ ท่าเรือ (SITF) และโครงการความร่วมมือสกัดกั้นยาเสพติด ณ ท่าอากาศยาน (AITF) เป็นต้น

นายสมศักดิ์ ได้ทิ้งท้ายว่า โดยกล่าวขอบคุณที่ทุกประเทศให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประเทศต่าง ๆ เพื่อรวบรวมเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศต่อไป

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น