จีน ตรวจประเมินโรงคัดบรรจุลำไยส่งออกตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคแมลงศัตรูพืชและไวรัสโควิด-19

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 สืบเนื่องจากผลการประชุมหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและจีน เกี่ยวกับมาตรการควบคุมป้องกันโรคแมลงศัตรูพืชและการปนเปื้อนเชื้อไวรัส Covid-19 บนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ผ่านการเก็บรักษาด้วยระบบความเย็น (Cold chain) โดยสำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน GACC (The General Administration of Customs of the People’s Republic of China) ขอความร่วมมือในการยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคแมลงศัตรูพืชและการปนเปื้อน Covid-19 ตามแนวทางปฏิบัติ Covid-19 and Food Safety: Guidance for Food Business ที่ประกาศโดย FAO/WHO โดยไทยนำเสนอจีนในการประยุกต์ใช้โรงคัดบรรจุผักผลไม้ของไทยที่ส่งมาจีน

โดยจีนได้สุ่มตรวจโรคแมลงศัตรูพืชและตรวจเชื้อ Covid-19 บนบรรจุภัณฑ์สินค้า ณ ด่านนำเข้าซึ่งเป็นมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศเป็นการชั่วคราว ต่อมา GACC ได้แจ้งขอสุ่มตรวจประเมินโรงคัดบรรจุผลไม้ทุเรียน ลำไย มังคุด และมะพร้าวของไทยที่ส่งออกจีน ทั้งเรื่องการควบคุมดูแลศัตรูพืชในสวนผลไม้ และมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัส Covid-19 ในสินค้าและบรรจุภัณฑ์ผ่านระบบ VDO conference โดยขอกรมวิชาการเกษตรจัดแผนการตรวจประเมินในมะพร้าว มังคุด ทุเรียน และลำไย จำนวน 3 สวน 3 โรงคัดบรรจุต่อชนิดพืชต่อวัน ในวันที่ 30 มิ.ย., 2, 5 และ 7 ก.ค. 64

ในวันที่ 7 กรกฏาคม 2564 GACC โดยศุลกากรหนานหนิง ได้สุ่มตรวจประเมินโรงคัดบรรจุลำไยสด เพื่อการส่งออกจีนจำนวน 3 สวน 3 โรงคัดบรรจุ ในพื้นที่โรงคัดบรรจุจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน โดยตรวจประเมินผ่านระบบ Zoom meeting เพื่อตอกย้ำให้จีนเชื่อมั่นในมาตรการกำกับดูแลการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางของกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินโรงคัดบรรจุ GMP และ GAP ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1

เจ้าหน้าที่จากด่านตรวจพืชเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาเชียงใหม่ ลงพื้นที่รับการตรวจร่วมกัน ในการควบคุมดูแลศัตรูพืชในสวนลำไยที่ได้รับใบรับรอง GAP จนถึงโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP การคัดกรองพนักงาน ลูกค้า และพนักงานขับรถตู้คอนเทนเนอร์ การรับวัตถุดิบและการตรวจสอบคุณภาพ และการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ยืดอายุการเก็บรักษา และการเก็บรักษา การสุ่มตรวจซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง และสุ่มตรวจความยาวก้านไม่เกิน 15 cm ตรวจสอบแมลงศัตรูพืชตามพิธีสารไทยจีน และการส่งออก ตลอดจนเอกสารจดบันทึกต่างๆ ผลการตรวจประเมินคาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการส่งออกลำไยและผลไม้อื่นๆ ไปจีนได้มากขึ้นในปี 2564 และในปีต่อๆ ไป  

ร่วมแสดงความคิดเห็น