อนุสรณ์ผู้เสียสละ และพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ผู้เสียสละ ประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร 2324

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 141 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

 

อนุสรณ์ผู้เสียสละ ประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร 2324 คือสถานที่บรรจุอัฐิและสถิตดวงวิญญาณของผู้กล้าหาญชาวไทย ประกอบด้วย ประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ได้ร่วมใจกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 – 2523 ซึ่งวีรบุรุษเหล่านั้นได้ต่อสู้กับศัตรูจนพลีชีพเพื่อชาติ เป็นผู้มีอุดมการณ์ที่มั่นคงยืนยงด้วยจิตสำนึกสูงสุด ดุจบรรพบุรุษผู้กล้าหาญในอดีตกาล อนุสรณ์ผู้เสียสละแห่งนี้ ดำเนินการสำเร็จด้วยความมุ่งมั่นของ พลตรี พร้อม ผิวนวล ผู้อำนวยการหน่วยผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร 2324 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และสร้างสำเร็จด้วยเงินบริจาคของภาคประชาชน และข้าราชการทุกฝ่ายทั่วประเทศ ได้รับการสนับสนุนและทำพิธีวางศิลาฤกษ์โดย พลโท สีมา ปาณิกบุตร แม่ทัพภาคที่ 3 (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 อนุสรณ์ผู้เสียสละแห่งนี้ จึงเป็นที่รวมพลังศรัทธา เป็นมรดกอันล้ำค่าแก่อนุชนรุ่นหลัง เป็นสัญลักษณ์คอยย้ำเตือนจิตชาวไทยให้มีจิตสำนึกร่วมสมานฉันท์ ในอันที่จะต่อสู้กับศัตรูของชาติ มุ่งมาดดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเอกราชของไทยให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสรณ์ผู้เสียสละ ประชาชน พลเรือน ทหาร ตำรวจ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นที่ระลึกด้วย ท่ามกลางความปลื้ม ปีติ ยินดี ของพสกนิกรและข้าราชการทุกฝ่ายที่เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ร่วมพิธีไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นคนในวันนั้น

 

อนุสรณ์ผู้เสียสละฯ มีฐานเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เมตร ยกขอบนั่งโดยรอยสูงจากพื้นดินเพียง 1 เมตรเท่านั้น เป็นลักษณะสวยงาม มีชั้นสูงชั้นละ 20 เซนติเมตร 7 ชั้น สูง 140 เซนติเมตร ตัวอนุสรณ์เป็นรูปทรง 5 เหลี่ยม ซึ่งได้แนวคิดมาจากป้อมสนามของทหาร แต่ละเหลี่ยมมีความหมาย ดังนี้

 

เหลี่ยมที่ 1 บรรจุพระปรมาภิไธย และคำจารึก ปั้นสลักเป็นรูปนางฟ้าเทพอัปสรพนมมือประทับอยู่ตรงกลาง สองข้างประดับด้วยตัวกนกลายไทย ข้างบนเป็นช่อกลีบดอกไม้สวรรค์ คือ ดอกมนฑาขั้นด้วยริ้วผ้า ขอบสองข้างปั้นสลักเป็นกนกลายไทยเครือเถา ข้างล่างเป็นบัวหงายลายกนก มีความหมายว่า นางฟ้ากาบอัปสรเป็นผู้แทนจากสวรรค์มารับดวงวิญญาณของผู้ที่ได้เสียสละอย่างกล้าหาญ เพื่อประเทศชาติ ดวงวิญญาณนั้นย่อมไปสู่สุขคติภพ ณ สวรรค์ เพราะสร้างกรรมดีมีความกล้าหาญใหญ่หลวง ภายในแผ่นคำจารึกนั้น จะมีพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และคำจารึกดังกล่าวข้างต้น

 

 

เหลี่ยมที่ 2 บรรจุรูปปั้นสลักนูน แสดงถึงวีรกรรมของประชาชน ปั้นสลักรูปประชาชนผู้รักชาติ ถืออาวุธคุ้มกันหน่วยสร้างทาง จนสามารถสร้างทางในถิ่นกันดารได้สำเร็จ แม้จะถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขัดขวางอย่างหนัก จนต้องต่อสู้กับศัตรูของชาติให้ได้ชัยชนะ พัฒนาท้องถิ่นได้สำเร็จ
เหลี่ยมที่ 3 บรรจุรูปปั้นสลักนูน แสดงถึงวีรกรรมของพลเรือน ปั้นสลักเป็นรูปข้าราชการ ฝ่ายพลเรือน ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ทางฝ่ายอำเภอจังหวัดมีหน่วยอาสาสมัครต่อสู้คุ้มกัน จนสามารถทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถช่วยเหลือประชาชน พัฒนาที่อยู่ที่กินให้แก่ประชาชนได้สำเร็จ ในรูปเจ้าหน้าที่แจกโฉนดที่ดินให้ทำกินแถมช่วยพัฒนาท้องถิ่น ต่อสู้กับความยากจนให้ประชาชนดำเนินชีวิต และมีความเป็นอยู่อย่างปลอดภัย
เหลี่ยมที่ 4 บรรจุรูปปั้นสลักนูน แสดงถึงวีรกรรมของตำรวจ ปั้นสลักเป็นรูปข้าราชการตำรวจ ทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากด้วยจิตสำนึกต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จนยอมสละชีวิตเพื่อคุ้มครองประชาชนให้มีความปลอดภัย

 

เหลี่ยมที่ 5 บรรจุรูปปั้นสลักนูน แสดงถึงวีรกรรมของทหาร ปั้นสลักเป็นรูปข้าราชการทหารทุกหมู่เหล่า ทำการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทุกรูปแบบ จนยอมพลีชีพเพื่อชาติ เอาเลือดเนื้อและชีวิต แลกกับความเป็นไทยเอาไว้ให้ลูกหลานไทย และรักษาไว้ซึ่งอมตะมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้แก่ลูกหลานไทยสืบไป
กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยได้ร่วมกันรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญและเสียสละยิ่งของบรรพบุรุษ ประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร โดยสามารถเดินทางไปสัมผัสกลิ่นไอแห่งความทรงจำอันมีค่าได้ ณ อนุสรณ์ผู้เสียสละ และพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ผู้เสียสละ ประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร 2324 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ในเวลา 09.00 – 15.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (ประสานรายละเอียดเพิ่มเติมการนำทัศนศึกษาได้ที่ กองบังคับการ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 17 หมายเลขโทรศัพท์ 054-451657)

********************************

ร่วมแสดงความคิดเห็น