เพราะเกษตรกร ผู้พิการ..ไม่ได้พิการความสามารถโครงการหลวง สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อผู้พิการชาวเขาอยู่ดี กินดี

​”..งานช่วยเหลือคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการไม่ได้อยากจะเป็นผู้พิการ และอยากช่วยเหลือตนเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถที่ปฏิบัติงานอะไร เพื่อชีวิตและเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยเหลือตนเองได้เพื่อจะทำให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม…”พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2517 ​

ปัจจุบันอารยประเทศต่างเห็นพ้องว่า คนพิการควรต้องมีโอกาสได้ทำงานช่วยเหลือตนเองเหมือนคนทั่วไป เช่นเดียวกับประเทศไทยการตระหนัก ในการให้โอกาสแก่ผู้พิการนี้ จึงทำให้กฎหมายกำหนดให้องค์กร บริษัท ห้างร้าน มีการจ้างงานแก่ผู้พิการตามศักยภาพเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่เป็นภาระของครอบครัว

มูลนิธิโครงการหลวง ให้ความสำคัญต่อการให้โอกาสแก่ผู้พิการ มาอย่างต่อเนื่อง มีผู้พิการได้รับการบรรจุเข้าเป็นบุคลากรในสายงานต่าง ๆ ทั้งผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางร่างกาย(มือ) และผู้พิการทางการได้ยิน(หูหนวก) ฯลฯ โดยปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ดำเนินการต่าง ๆ ของโครงการหลวง มานานกว่า 30 ปี



ปีพุทธศักราช 2561 มูลนิธิโครงการหลวง ได้ริเริ่ม “โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการบนพื้นที่สูง” ในพื้นที่นำร่อง คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีกลุ่มผู้พิการในชุมชนชาวเขาเผ่าม้ง จำนวน 8 ครอบครัว การสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการและครอบครัวของผู้พิการนี้ เป็นการช่วยให้เขาช่วยตนเอง ตามแนวทางพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พวกเขาจึงสามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้เช่นเดียวกับเกษตรกรคนอื่น ๆ ในชุมชน ด้วยการปลูกผักในโรงเรือนที่มูลนิธิโครงการหลวงจัดหาให้



ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาของพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสาน ต่อยอดตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากพื้นที่ฝิ่น และความยากจน ได้กลับกลายเป็นพื้นที่เกษตรในระบบอนุรักษ์ สร้างความอยู่ดีกินดีแก่คนในชุมชน และยังเป็นตัวอย่างของชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน



จากการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการบนพื้นที่นำร่อง ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แม่แฮ มูลนิธิโครงการหลวงได้ดำเนินงานต่อเนื่อง และขยายการดูแลไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดยส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรผู้พิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการ ทำให้ผู้พิการเหล่านี้ มีรายได้จากการปลูกผักในโรงเรือน อาทิ ผักตระกูลสลัด ผักกาดคอส และ มันเทศ โดยการจำหน่ายผ่านระบบตลาดมูลนิธิโครงการหลวง ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน ต้นกล้า ปัจจัยการผลิต พื้นที่ในโรงเรือนภายใต้การดูแลของศูนย์ และองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยมีแผนการผลิตเป็นตัวกำหนดปริมาณการผลิตที่จะส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในแต่ละฤดูกาล
​ครอบครัว เสริมปัญญากุล 1 ในครอบครัว ผู้พิการที่เข้าร่วมเป็นเกษตรกร ปลูกผักกวางตุ้ง ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ มีสมาชิกในครอบครัว รวม 6 คน มีผู้พิการที่เป็นเกษตรกรในโครงการฯ จำนวน 2 คน ในปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการเข้าร่วมโครงการตลอดฤดูกาลผลิต รวม 80.000 บาท ถือเป็นรายได้เสริมที่ดีถึงกับเป็นรายได้หลักให้กับครอบครัวได้ในบางฤดูกาล



ปัจจุบัน เกษตรกรผู้พิการในพื้นที่รับผิดชอบต่าง ๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง จึงเป็นเพียงผู้พิการแต่ร่าง หากแต่มากด้วยความสามารถในอาชีพเกษตรกร พืชผล สด สะอาด ปลอดภัย ที่ผ่านการปลูกและดูแลของเกษตรกรเหล่านี้ ล้วนมีคุณภาพและถูกต้องตาม มาตรฐานในการผลิต สามารถนำส่งเข้าจำหน่ายใน ตราสินค้า โครงการหลวง เฉกเช่นเดียวกับผลผลิตจากเกษตรกรอื่น ๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง

ร่วมแสดงความคิดเห็น