ศบค.มท. สั่งการผู้ว่าฯ กทม. และทุกจังหวัด ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 28) และคำสั่งฯ ฉบับล่าสุดโดยเคร่งครัด

ศบค.มท. สั่งการผู้ว่าฯ กทม. และทุกจังหวัด ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 28) และคำสั่งฯ ฉบับล่าสุดโดยเคร่งครัด พร้อมสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน ลดการออกนอกเคหสถานเพื่อชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโควิด – 19วันนี้ (20 ก.ค.64) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 ก.ค.64 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 10/2564 ลงวันที่ 17 ก.ค. 64 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 53 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 1 จังหวัด โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (20 ก.ค.64) เป็นต้นไป ซึ่งในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 ได้วางแนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ดังกล่าว

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร รับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ดังกล่าว โดยเคร่งครัด พร้อมสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ได้ทราบว่า มาตรการตามข้อกำหนดฯ ดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชน และชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) นอกจากนี้ ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.64 ข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิ.ย. 64 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดฯ ฉบับล่าสุด
.
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้เน้นย้ำให้กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา) หารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางระบบและกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการ ได้แก่ 1) การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง โดยให้ประชาชนเลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง พึงใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้กรุงเทพมหานครและจังหวัด ประสานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ สมาคม ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อาสาสมัคร และจิตอาสา ให้ความช่วยเหลือและกระจายอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง 2) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ กรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการการเดินทาง หรือหลักฐานอื่น ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยกรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ได้แก่ การสาธารณสุข การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน และการประกอบอาชีพที่จำเป็น ให้หน่วยงาน หรือบริษัท หรือสถานประกอบการต้นสังกัด แล้วแต่กรณี เป็นผู้ออกเอกสารรับรองความจำเป็นฯ สำหรับกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ให้ขอเอกสารรับรองความจำเป็นฯ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3) การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีความมุ่งหมายเพื่อคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่น โดยให้พิจารณาจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดในพื้นที่เขตติดต่อระหว่างจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กับจังหวัดอื่นในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล) โดยประสานการดำเนินการให้สอดคล้องกับจังหวัดพื้นที่รอยต่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความมุ่งหมายของมาตรการและกรณีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่นตามข้อกำหนด คือ กรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเดินทาง ให้แสดงหลักฐานหรือเอกสารซึ่งต้นสังกัด แล้วแต่กรณีเป็นผู้ออกเอกสารรับรองความจำเป็นฯ และกรณีบุคคลทั่วไป สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “หยุดเชื้อ เพื่อชาติ (https://covid-19.in.th/)” และแสดง QR Code ต่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ด่านตรวจ และจุดสกัด 4) มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง ต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14 วัน ทั้งนี้ การยกเว้นสถานที่หรือกิจการที่ให้เปิดดำเนินการได้ตามข้อกำหนดฯ ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด 5) ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยกรณีกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้จัดกิจกรรมได้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และ 6) ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด รวมทั้งให้งดการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรของสถานประกอบการ บริษัท ปฏิบัติตามมาตรการเช่นเดียวกัน กรณีสถานประกอบการที่มีพนักงานพักอาศัยอยู่ภายนอกสถานประกอบการ ให้พิจารณาลดกำลังการผลิต หรือปรับปรุงรูปแบบการทำงาน หรือจัดให้มีที่พักในสถานประกอบการตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล
.
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (64 จังหวัด) ให้จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่ติดต่อกับจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล) ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ และจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจหรือจุดสกัด เพื่อให้ประสานสอดคล้องกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำการคัดกรองผู้เดินทางเพื่อเข้าสู่ระบบการเฝ้าสังเกตอาการ ณ ที่พำนัก โดยกำชับและเน้นย้ำทุกอำเภอจัดเก็บข้อมูลผู้ที่เดินทางเข้าหมู่บ้าน/ชุมชน ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานกรรมการชุมชนอย่างใกล้ชิด
.
นอกจากนี้ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หารือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ ได้แก่ การตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยวางระบบการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ควบคู่กับการเร่งดำเนินการในการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR เพื่อลดการแออัดในการขอตรวจกับจุดตรวจต่าง ๆ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายและขั้นตอนการดำเนินการให้ชัดเจน หากผลยืนยันเป็นบวกและไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ให้เข้าสู่กระบวนการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) รวมไปถึงให้เตรียมพร้อมการจัดสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ ตามศักยภาพของพื้นที่ ได้แก่ (1) ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) (2) การแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolationi:iCI) (3) โรงพยาบาลสนาม (4) Hospitel (5) ICU สนาม โดยประสานการปฏิบัติ กำหนดมาตรการกำกับดูแล และการเบิกจ่ายงบประมาณ กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีมติให้ออกประกาศหรือคำสั่ง ให้ส่งประกาศหรือคำสั่งให้ ศบค.มท. ทราบโดยเร็ว เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบประกาศหรือคำสั่งโดยทั่วกัน

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 100/2564
วันที่ 20 ก.ค. 2564

ร่วมแสดงความคิดเห็น