กรม.อ-กทม.- อปท. จัดทีมลงพื้นที่ร่วมจัดการสภาพแวดล้อม–ขยะติดเชื้อในศูนย์พักคอย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทีม ลงพื้นที่ร่วมดำเนินงานศูนย์ความร่วมมือภาครัฐและประชาคมเพื่อผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมแนะแนวทางการจัดการสภาพแวดล้อมและมูลฝอยติดเชื้อในศูนย์พักคอยให้เหมาะสม เน้นสถานที่โล่ง โปร่ง ไม่แออัด และสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยรอเตียงในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายหน่วยงานจัดตั้ง ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ รองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ โดยมีการคัดกรองอาการและดูแลในเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหา การแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งล่าสุดกรมอนามัย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมจัดทีมลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชน สำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ รวมถึงให้คำแนะนำการเตรียมการด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ชุดแรกรับ ถุงขยะ คลอรีน ชุดตรวจคุณภาพน้ำ และจะลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งก่อนเปิดให้บริการ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และเมื่อเปิดให้บริการแล้ว จะมีการติดตามการดำเนินงาน ทั้งในเรื่องของการจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก การจัดการขยะติดเชื้อ เส้นทางการขนส่งอาหารและขยะ ในกรณีของครอบครัวจะดูแลด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ดูแลด้านส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย และลงพื้นที่กับกรมสุขภาพจิต เพื่อดูแลสภาพจิตใจต่อไป

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานที่เพื่อใช้เป็นที่แยกกักตัวในชุมชนนั้น ควรมีลักษณะดังนี้ 1) เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน เป็นต้น 2) สถานที่ใช้แยกกักไม่ควรเกิน 200 คน เพื่อลดความแออัด และ 3) มีแนวทางปฏิบัติการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ด้านการจัดการขยะติดเชื้อ ผู้ปฏิบัติงานเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อต้องสวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมจัดให้มีภาชนะบรรจุ (ถุงแดง) และภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อ (ถังแดง) อย่างเพียงพอ มีการเก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อตามเส้นทางและเวลาที่กำหนด จัดให้มีที่พักรวมขยะติดเชื้อที่แยกเฉพาะและสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ รวมถึงประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาเก็บขนไปกำจัด อย่างถูกต้อง 2) ด้านการกำจัดน้ำเสีย ควรมีการจัดการน้ำเสียอย่างเหมาะสมก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก มีระบบการฆ่าเชื้อโรคที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาที่ปล่อยน้ำเสีย

“ด้านสุดท้ายคือ 3) ด้านการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล ให้ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยน้ำยา ทำความสะอาดทั่วไป ทิ้งไว้อย่างน้อย10 นาที เน้นเช็ดถูบริเวณจุดเสี่ยง เช่น ที่รองนั่งโถส้วม ฝาปิดโถส้วม ที่กดชักโครก ราวจับลูกบิด กลอนประตู ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวที่เตรียมไว้หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และต้องสวมถุงมือยาง รองเท้ายาง ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น