หมอชี้ ควรล็อกดาวน์ 4 สัปดาห์พร้อมกับการปูพรมตรวจอย่างครอบคลุมต่อเนื่อง และจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้

วันนี้ (29 ก.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงสถานการณ์โควิดทั่วโลกพร้อมข้อเสนอแนะข้อควรทำก่อนที่ประเทศจะเอาไม่อยู่ โดยระบุข้อความว่า
“สถานการณ์ทั่วโลก 29 กรกฎาคม 2564… ติดเพิ่มกว่าหกแสนสามหมื่นคน ระดับพอๆ กับช่วงปลายมีนาคมที่ผ่านมา
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 631,046 คน รวมแล้วตอนนี้ 196,613,278 คน ตายเพิ่มอีก 9,700 คน ยอดตายรวม 4,202,366 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย และอิหร่าน
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 71,617 คน รวม 35,467,098 คน ตายเพิ่ม 445 คน ยอดเสียชีวิตรวม 628,056 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 43,184 คน รวม 31,526,595 คน ตายเพิ่ม 640 คน ยอดเสียชีวิตรวม 422,694 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 48,013 คน รวม 19,797,086 คน ตายเพิ่ม 1,273 คน ยอดเสียชีวิตรวม 553,179 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,420 คน รวม 6,195,232 คน ตายเพิ่ม 798 คน ยอดเสียชีวิตรวม 156,178 คน อัตราตาย 2.5%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 27,934 คน ยอดรวม 6,054,049 คน ตายเพิ่ม 40 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,735 คน อัตราตาย 1.8%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชีย และยุโรปที่ยังคงรุนแรง ยอดรวมของสองทวีปนี้สูงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของโลก และหากรวมอเมริกาเหนือไปด้วยก็จะมากกว่าร้อยละ 80 ของยอดทั้งหมดในแต่ละวัน
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านและอิรักที่ติดกันหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดน้อยกว่าสิบ
วิเคราะห์ภาพรวม 222 ประเทศในฐานข้อมูล Worldometer ขณะนี้มี 17 ประเทศที่มีจำนวนการติดเชื้อรายวันสูงหลักหมื่นขึ้นไป และมี 36 ประเทศที่ติดกันหลักพัน 52 ประเทศติดกันหลักร้อย 21 ประเทศติดกันหลักสิบ
ทวีปที่ตอนนี้ระบาดหนักคือ เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ
สถานการณ์ของไทยเรา จำนวนติดเชื้อจริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆ คือมีมากกว่าจำนวนที่รายงานทางการในแต่ละวัน เนื่องจากไม่ได้รวมจำนวนคนที่ตรวจด้วย Rapid antigen test kit (ATK) แล้วได้ผลบวก โดยยังไม่ได้ตรวจ RT-PCR ยิ่งหากมีการใช้วิธีตรวจ ATK มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังไม่นำมารายงานให้ประชาชนได้ทราบในแต่ละวัน ก็จะเห็นตัวเลขเคสรายใหม่ดูลดลงหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าสถานการณ์จริง และจะมีผลกระทบต่อความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทำให้ส่งผลต่อมาตรการป้องกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับบุคคลได้
สิ่งที่ศบค.”ต้องทำ”คือ การรายงานจำนวนการตรวจ RT-PCR และ ATK ในแต่ละวันอย่างชัดเจน ว่าตรวจไปเท่าใด ที่ใดบ้าง และได้ผลเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ และนำไปใช้ตัดสินใจวางแผนดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างถูกต้อง
การรายงานสำหรับคนที่ตรวจ RT-PCR ก็สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเคสติดเชื้อที่ยืนยันแล้ว (confirmed cases)
ส่วนคนที่ตรวจด้วยวิธี Rapid antigen test ก็รายงานว่าเป็นเคสติดเชื้อที่เป็นไปได้สูง (probable cases)
แต่สิ่งที่ต้องวางแผน และแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์คือ คุณทำอย่างไรที่จะไม่ให้เคสที่ตรวจด้วยวิธี Rapid antigen test แล้วได้ผลบวกทุกคน ให้ได้รับการตรวจ RT-PCR ให้ครบและทำได้ทันที ไม่ปล่อยให้เนิ่นนาน เพราะหากไม่ได้ตรวจ ก็จะทำให้ไม่ถูกรวมในจำนวนเคสติดเชื้อที่ยืนยัน และหากทำโดยมีคิวนาน ความรู้ทางการแพทย์เราย่อมทราบกันดีว่า เวลายิ่งนานไปเท่าใด โอกาสตรวจยืนยันพบเชื้อนั้นก็จะลดลงตามลำดับ ก็ย่อมทำให้จำนวนเคสจริงคลาดเคลื่อนไปในที่สุด
การสร้างระบบกลไกการทำงานด้านนโยบายและมาตรการต่างๆ ทางสาธารณสุขนั้น จำเป็นต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามความรู้ทางการแพทย์ที่ถูกต้อง อธิบายได้โดยไม่มีข้อกังขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบตรวจคัดกรองโรคที่กล่าวมา รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นทั้งหยูกยา ที่ไม่ใช้ไสยศาสตร์ ความเชื่อส่วนตัว แต่ต้องเป็นความรู้ทางการแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์ได้แล้วตามมาตรฐานสากล
ตลอดจนมาตรการควบคุมป้องกันโรค และวัคซีน ทั้งการเลือกชนิด และวิธีการใช้
สัจธรรมจากบทเรียนทั่วโลกชี้ให้เราเห็นว่า “ความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจำนวนการติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต และผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมจากการระบาดรุนแรงนั้น ไม่ได้เกิดจากความโชคร้าย แต่ล้วนเกิดจากการจัดการระดับนโยบายและมาตรการต่างๆ ทางด้านสาธารณสุข การควบคุมป้องกันโรค หยูกยา ทรัพยากร และวัคซีน ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตอบสนองต่อการระบาดรุนแรงได้”
หากไม่หลงต่อกิเลส ใช้วิชชาเป็นเข็มทิศ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท และเห็นคุณค่าของชีวิตคน นโยบายและมาตรการต่างๆ ของประเทศก็จะเน้นการป้องกัน ไม่สร้างความเสี่ยง และวางแผนจัดการที่นำไปสู่สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลัก
หลายประเทศโชว์ให้เห็นมาตลอดแล้วว่า ประชาชนปลอดภัย ประเทศก็มีความมั่นคง และมีโอกาสประคับประคองสังคมเศรษฐกิจไปได้อย่างราบรื่น เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน หรือแม้แต่หลายประเทศในสแกนดิเนเวีย
แต่หลายประเทศทำไม่ถูกทิศถูกทาง ก็ระบาดกันเละเทะ และยิ่งปล่อยไว้นาน สุดท้ายจะหนีไม่พ้นต้องล็อคดาวน์ทั้งประเทศอย่างยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น
ยังยืนยันว่าสิ่งที่เราควรทำคือ
หนึ่ง การทำ Full national lockdown 4 สัปดาห์พร้อมกับการปูพรมตรวจอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง โดยวางแผนประคับประคอง ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้พอดำรงชีวิตได้
สอง จำเป็นต้องหยุดนโยบายเพิ่มความเสี่ยงในขณะที่การระบาดในประเทศยังรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเกาะ เปิดท่องเที่ยว เปิดประเทศ
สาม เปลี่ยนนโยบายวัคซีน ยุติการฉีดไขว้ มุ่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ mRNA vaccines มาเป็นวัคซีนหลัก ร่วมกับ Protein subunit vaccine
ในขณะที่รอการจัดหา ควรใช้ Sinopharm สำหรับคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ควบคู่ไปกับการใช้วัคซีน Pfizer ที่ได้รับบริจาคมาให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ส่วน Astrazeneca ใช้สำหรับคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตัวเราและครอบครัวต้องไม่ติดเชื้อ
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก…
ด้วยรักและห่วงใย

ร่วมแสดงความคิดเห็น