(มีคลิป) อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 จัดประชุมชี้แจง เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ

อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 จัดประชุมชี้แจงเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการจัดทำข้อมูลขอบเขตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ เพื่อสนับสนุนการสร้างคลังข้อมูลทรัพยากรทางการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมเทวราช อำเภอเมือง จังหวัดน่าน นายสัจจพงษ์ จินดาพล  ประธานคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของชุมชนท้องถิ่นต่อการพัฒนาพื้นที่พิเศษพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ประชุมชี้แจง เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการจัดทำข้อมูลขอบเขตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ กิจกรรมนำร่องการศึกษาข้อมูล ขอบเขตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ เพื่อสนับสนุนการสร้างคลังข้อมูลทรัพยากรทางการท่องเที่ยว โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานราซการ ผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหาร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน มาร่วมการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ ในการจัดทำข้อมูลขอบเขตของการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ โดยที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดประชุมชี้แจงเพื่อสร้างการรับรู้นี้ถือว่ามีความสำคัญมาก หากเมืองน่าน จะยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน มาตรฐานโลก ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านที่มาของการประชุมในวันนี้ มาจากการที่ทาง อพท. ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญที่เป็น อุปสรรดในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเมืองน่าน เนื่องจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ การท่องเที่ยวที่ “เกิดคุณ” กล่าวคือสร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองน่านอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม แต่โจทย์อีกด้านหนึ่ง คือ จะทำยังไงให้การท่องเที่ยว “ไม่เกิดโทษ” หลายแหล่งท่องเที่ยวแม้สร้างรายได้มหาศาล แต่กลับเกิดความเสื่อมโทรมในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย รวมไปถึงปัญหาสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ

ที่ผ่านมา แม้เรารับรู้ว่าการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้คนน่านอย่างงดงาม แต่เรายังขาด “ข้อมูล”ที่เป็น “รูปธรรม” ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจาก “ความรู้สึก” หรือ “ความคิดเห็น” ที่แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยว “เป็นโทษหรือไม่” หรือการท่องเที่ยวสร้างผลกระทบ/ปัญหา ในประเด็นใดบ้าง มากหรือน้อย ซึ่งถ้าผู้มีอำนาจมี “ข้อมูล” ที่เป็นรูปธรรม ก็จะสามารถวางแผนบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพขึ้น แก้ปัญหาได้ตรงจุดขึ้น  จากเหตุผลที่เรียนมาทั้งหมด อพท. จึงร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ ในการพยายามเริ่มต้นการวางพื้นฐานระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เริ่มจากการตอบคำถามว่าในเมืองน่านของเรา มีขอบเขตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร เช่น ใครเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวบ้าง ที่พักมีกี่แห่ง ร้านอาหารมีกี่เจ้า มีบริษัทนำเที่ยวอยู่เป็นจำนวนเท่าไร มีกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นต้น

จากนั้น พอได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว เราก็จะสามารถลงไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมได้เช่น ผู้ประกอบการแต่ละแห่ง แต่ละประเภท แต่ละขนาด มีการใช้พลังงานเท่าไร ปล่อยขยะประมาณเท่าไร มีการกระจายรายได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น พอนำข้อมูลของแต่ละสถานที่มารวมกันเป็นภาพของเมืองเก่าน่าน ก็จะทำให้เราเห็นปัญหาที่เป็นรูปธรรม สามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า นำสู่การวางแผนบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานของรัฐก็จะสามารถใช้อำนาจแก้ปัญหาได้ตรงจุด รูปธรรมการพัฒนาก็จะเกิด ตรงนี้ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ ทั้งภาคเอกชนเอง ทั้งนักท่องเที่ยวเองและที่ขาดไม่ได้คือ ชาวบ้านเขาก็จะมีความสุข เพราะผลกระทบที่จะเกิดกับเขามันก็น้อยลง การท่องเที่ยวก็จะกลายเป็นพระเอก เป็นพระเอกที่แท้จริง ไม่ใช่กลายมาเป็นผู้ร้ายตอนท้ายเรื่อง นั่นละครับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น