ปภ.สรุปข้อมูลสถิติสาธารณภัยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา รองรับการวางแนวทางลดผลกระทบจากสาธารณภัย

กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยข้อมูลสถิติสาธารณภัยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยเกิดสาธารณภัยใน 6 ประเภทภัย ได้แก่ อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ดินโคลนถล่ม อัคคีภัย และโรคระบาดสัตว์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมเหตุสาธารณภัยรายวันของจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีข้อมูลสถิติในภาพรวม ดังนี้

อุทกภัย 1,028 หมู่บ้าน อยู่ใน 27 จังหวัด 101 อำเภอ 271 ตำบล ผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้บาดเจ็บ 2 ราย บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2,857 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 21,711 ไร่

วาตภัย 13,758 หมู่บ้าน อยู่ใน 75 จังหวัด 707 อำเภอ 3,522 ตำบล พื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 เขต 6 แขวง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้สูญหาย 2 ราย
ผู้บาดเจ็บ 48 ราย บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 81,702 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 46,041 ไร่

ภัยแล้ง 9 หมู่บ้าน อยู่ใน 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล โดยประกาศยุติสถานการณ์ภัยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

ดินโคลนถล่ม 12 หมู่บ้าน อยู่ใน 9 จังหวัด 9 อำเภอ 9 ตำบล
ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 7 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 90 ไร่

อัคคีภัย 1,043 ครั้ง ในพื้นที่ 68 จังหวัด 393 อำเภอ 779 ตำบล
945 หมู่บ้าน พื้นที่กรุงเทพมหานคร 25 เขต 28 แขวง ผู้เสียชีวิต 17 ราย
ผู้บาดเจ็บ 71 ราย อาคาร/บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,003 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 718 ไร่

โรคระบาดสัตว์ (โรคลิมปีสกิน) 21,332 หมู่บ้าน อยู่ใน 31 จังหวัด
268 อำเภอ 2,079 ตำบล

จากข้อมูลสถิติสาธารณภัย พบว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน จึงมีสถิติการเกิดอัคคีภัยสูงในทั่วทุกภาค ขณะที่วาตภัยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนบ่อยครั้งขึ้น ประกอบกับในช่วงฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน มีการปรับเปลี่ยนทิศทางลม ส่งผลให้เกิดลมกระโชกแรง ส่วนอุทกภัยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงเช่นกัน เนื่องจากเดือนมกราคมยังอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนของภาคใต้ ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนเกิด น้ำไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือ สำหรับโรคระบาดในสัตว์ที่มีสถิติการระบาดค่อนข้างสูง เนื่องจากเกิดโรคลิมปีสกินในกลุ่มโคและกระบือที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระจายไปยังพื้นที่ภาคเหนือ

ทั้งนี้ ปภ. จะได้นำข้อมูลสถิติสาธารณภัยดังกล่าวไปวางแนวทางลดผล กระทบจากสถานการณ์ภัยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในปัจจุบัน รวมถึงสร้างการรับรู้ข้อมูลความเสี่ยงภัยและวิธีปฏิบัติอย่างปลอดภัยแก่ประชาชนผ่านทุกช่องทางสื่ออย่างต่อเนื่อง

สามารถติดตามข้อมูลสถิติสาธารณภัยได้ที่ศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย
ผ่านเว็บไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go

ร่วมแสดงความคิดเห็น