ปภ.แนะเลือกใช้ ตรวจสอบ พ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ถูกวิธีใช้งานปลอดภัย

การเลือกใช้ ตรวจสอบ และดูแลรักษาแบตเตอรี่รถยนต์อย่างถูกต้อง รวมถึงเรียนรู้วิธีการพ่วงแบตเตอรี่อย่างถูกต้อง จะช่วยให้การใช้งานระบบไฟฟ้าของรถยนต์มีความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการเลือกใช้ ตรวจสอบ และพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์อย่างถูกวิธี ดังนี้

รู้จักประเภทของแบตเตอรี่รถยนต์ ได้แก่
แบบเปียก มีฝาเปิด – ปิด สำหรับเติมน้ำกลั่น แยกเป็นแบบที่เติมน้ำกลั่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีอายุการใช้งาน
1 ปีครึ่ง – 2 ปี และแบบกึ่งแห้งที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อย อายุการใช้งานไม่ควรเกิน 3 ปี
แบบแห้ง ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น จึงไม่มีฝาเปิด – ปิด สำหรับเติมน้ำกลั่น แต่มีช่องไว้ตรวจสอบระดับน้ำกรดและไฟที่กักเก็บ มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 5 ถึง 10 ปีเลือกใช้งานแบตเตอรี่อย่างถูกต้อง ให้ปฏิบัติ ดังนี้
เลือกใช้แบตเตอรี่ที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รวมถึงเลือกใช้แบตเตอรี่
ที่ผลิตใหม่ โดยตรวจสอบจากวัน เดือน ปี ที่ผลิต เพื่อป้องกันแบตเตอรี่เสื่อม
เลือกใช้แบตเตอรี่ให้เหมาะกับประเภทและรุ่นรถ มีขนาดแอมแปร์ที่เท่ากับหรือมากกว่าที่ติดมากับรถ รวมถึงติดตั้งกับช่องวางแบตเตอรี่ได้พอดี
เลือกใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดแอมแปร์เหมาะกับสภาพการใช้งาน กรณีติดตั้งเครื่องเสียง โทรทัศน์ อุปกรณ์ชาร์จมือถือหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นในรถ ให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10 – 30 แอมแปร์
รู้ทันสัญญาณเตือนแบตเตอรี่เสื่อม ได้แก่
รถสตาร์ทติดยาก โดยเฉพาะช่วงเช้าหรือจอดทิ้งไว้หลายวัน
ไฟหน้ารถสว่างน้อยลง สังเกตจากความสว่างของแสง และระยะการส่องสว่างของไฟลดลง
ระบบไฟฟ้าของรถทำงานผิดปกติ อาทิ ไฟในห้องโดยสาร ไฟเลี้ยว ไฟท้าย แตรรถมีเสียงเบา กระจกไฟฟ้าทำงานช้า
ไดชาร์จทำงานผิดปกติ ส่งผลไม่สามารถผลิตประจุไฟฟ้านำไปเก็บในแบตเตอรี่หรือเก็บได้น้อยมากกว่าปกติ
ตรวจสอบแบตเตอรี่อย่างถูกวิธี ให้ปฏิบัติ ดังนี้

ตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่ภายนอกแบตเตอรี่ โดยจะต้องไม่มีรอยแตกร้าว เพราะไม่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้
หมั่นทำความสะอาดขั้วแบตเตอรี่ เพราะหากมีคราบสกปรกจะส่งผลต่อการนำกระแสไฟฟ้า
ตรวจสอบระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่สัปดาห์ละครั้ง เพื่อป้องกันแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ และหมั่นเติมน้ำกลั่นในระดับ
ที่กำหนด จะช่วยป้องกันการเกิดคราบสกปรกและส่งผลต่อการนำไฟฟ้า
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากกับรถ เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น
วิธีพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์อย่างปลอดภัย ให้ปฏิบัติ ดังนี้
ปิดสวิตช์และอุปกรณ์ไฟฟ้าของรถทั้งสองคัน และนำรถที่มีแบตเตอรี่มาจอดใกล้กันรถที่แบตเตอรี่หมด เพื่อต่อสายพ่วงแบตเตอรี่ ห้ามสตาร์ทเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าของรถทั้งสองคัน ห้ามสูบบุหรี่ จุดไฟแช็ก เพราะจะทำให้เกิดประกายไฟและระเบิดได้
ต่อสายพ่วงแบตเตอรี่อย่างถูกวิธี โดยนำสายพ่วงแบตเตอรี่ขั้วบวก (สีแดง) ของรถที่แบตเตอรี่หมดมาต่อเข้ากับขั้วบวกของรถคันที่จะมาช่วย และต่อสายพ่วงแบตเตอรี่ขั้วลบ (สีดำ) ของคันที่จะมาช่วย โดยปลายอีกข้างหนึ่งให้หนีบกับโลหะหรือตัวถังของรถที่แบตเตอรี่หมด รวมถึงห้ามต่อสายพ่วงขั้วลบกับขั้วลบในระหว่างทั้งสองคัน เพื่อป้องกันแบตเตอรี่ระเบิด อีกทั้งระมัดระวังไม่ให้ปลายสายแบตเตอรี่สัมผัสกัน เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
กระตุ้นการทำงานของแบตเตอรี่ โดยสตาร์ทเครื่องยนต์รถคันที่มาช่วยทิ้งเอาไว้ประมาณ 3 นาที แล้วเร่งเครื่องยนต์เล็กน้อย สตาร์ทเครื่องยนต์รถที่แบตเตอรี่หมด พร้อมเร่งเครื่องในอัตรา 1,500 – 2,000 รอบต่อนาที เพื่อจะตรวจสอบว่ามีประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่ จากนั้นให้ถอดสายพ่วงแบตเตอรี่ที่หมดออก จึงแล้วค่อยถอดสายพ่วงของรถคันที่มาช่วยออก

ร่วมแสดงความคิดเห็น