อบจ.เชียงใหม่ ลงนาม MOU ทุ่มงบจัดซื้อรถตรวจหาเชื้อโควิด ควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมวางแผนเสนอการกู้เงิน 370 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนทางเลือกให้ชาวเชียงใหม่

วันที่ 5 ส.ค.64 ที่หอประชุมสภา อบจ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่าง อบจ.เชียงใหม่ กับ สสจ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการจัดหา “รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย โควิด-19” สำหรับใช้ในการตรวจหาเชื้อเชิงรุก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่

โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีผู้ลงนามประกอบด้วย นพ.จตุชัย มณีรัตน์ สสจ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ และนายธัชพล อภิรติมัย ปลัด อบจ.เชียงใหม่ โดยมี ผวจ.เชียงใหม่ เป็นสักขีพยาน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ใน จ.เชียงใหม่กำลังประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายอำเภอ โดยภูมิประเทศของ จ.เชียงใหม่ เป็นภูเขาและพื้นที่สูง ทำให้การเดินทางเข้าตรวจเชิงรุกและการรอผลใช้เวลานาน ทาง อบจ.เชียงใหม่ได้มีแนวคิดแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้การตรวจเชิงรุกทราบผลเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาหลักมาจากการเดินทางไกลที่ จะต้องนำตัวอย่างลงมาตรวจที่แลปในเมืองหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ ที่ต้องใช้เวลาเกิน 24 ชั่วโมง ทำให้เป็นความร่วมมือระหว่าง กองช่างของ อบจ.เชียงใหม่ กับ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยกันออกแบบตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย โควิด-19 จำนวน 2 คัน คันละ 1 ล้านบาท และ รถตรวจผลแลปเคลื่อนที่อีก 1 คัน ในราคา 4 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมดเป็นเงิน 6 ล้านบาท

นอกจากนี้ อบจ.เชียงใหม่ เตรียมเสนอการกู้เงินจากเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย จำนวน 370 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมให้กับประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เข้าสู่สภาอบจ.เชียงใหม่ เพื่อให้สภาฯพิจารณาอนุมัติ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นามาแล้วจำนวน 1 แสนโดส จากสภากาชาดไทย ที่จะได้รับการส่งมอบมาในประมาณเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ สำหรับการจัดฉีดวัคซีนทาง อบจ.เชียงใหม่ ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่จัดสรรการฉีดวัคซีน โดยทาง อบจ. ส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้จัดสรรการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่

ด้าน นพ.จตุชัย มณีรัตน์ สสจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.เชียงใหม่ พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ในทุกวัน โดยขณะนี้ศักยภาพการตรวจคัดกรองเชิงรุกสามารถทำได้วันละประมาณ 10,000 คนต่อวัน และในระยะหลังคลัสเตอร์ต่างๆ เริ่มเจอในพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองมากขึ้น ทำให้การตรวจเชิงรุก จะต้องใช้เวลาในการขนส่งจากพื้นที่ตรวจลงมาที่แลป ประมาณ 6-7 ชั่วโมง ทำให้การทราบผลต้องใช้เวลาพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามทางสสจ.เชียงใหม่ พยายามจะไม่ให้เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากรับการตรวจ

แต่เมื่อมีรถตรวจแลปเคลื่อนที่ เข้าไปประกบกับรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จะทำให้สามารถทราบผลการตรวจได้เร็วมากขึ้น นั้นหมายถึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วมากยิ่งขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมกาแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้น

ในขณะนี้สถานการณ์โรงพยาบาลสนามของ จ.เชียงใหม่ ยังถือว่าสามารถรองรับผู้ป่วยสีเขียวได้อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมแผนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในท้องถิ่นตามอำเภอต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว แต่ปัญหาขณะนี้อยู่ที่ผู้ป่วยสีเหลือง การเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลต่างๆ ถือว่าทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากว่าอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆที่มีอย่างจำกัด เช่น เครื่องช่วยหายใจและระบบออกซิเจน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่เชียงใหม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่บางส่วน ไปช่วยรักษาคนไข้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียงอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น