ข่าวปลอม!!!กลุ่มเปราะบางทั้งประเทศรับเงินเยียวยาคนละ 3,000 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

 

วันที่ 10 ก.ย. 64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กลุ่มเปราะบางทั้งประเทศรับเงินเยียวยาคนละ 3,000 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

เนื่องจากกรณีการแชร์ข่าวสารที่ระบุว่าแจ้งข่าวดี! กลุ่มเปราะบางทั้งประเทศรับเงินเยียวยา 3,000 บาท ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวง พม. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ได้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์รายละไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เงินเยียวยา โดยเบิกจ่ายตามระเบียบและประกาศของกระทรวง พม. ประกอบด้วย
1. การสงเคราะห์เด็กภายในครอบครัว
2. การสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ในประเทศให้กลับภูมิลำเนาเดิม
3. การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน
4. การสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง
5. เงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
6. การช่วยเหลือ สตรีหรือครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคม
7. การคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการจัดที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ผู้สูงอายุตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง
8. การคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และการให้คำแนะนำปรึกษาดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว และหนังสือกระทรวงการคลัง อาทิ การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์ และการดำเนินงานช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่สตรีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเอดส์ , การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์ และเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวชาวเขา
ทั้งนี้ กลุ่มเปราะบางและประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมและได้รับผลกระทบของโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในจังหวัดทั่วประเทศ หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 โดยจะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบและประเมินข้อเท็จจริงตามกระบวนการสังคมสงเคราะห์ว่ามีปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างไร อีกทั้งมีการวิเคราะห์เป็นรายกรณีตามขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจ่ายเงินสงเคราะห์ดังกล่าวต่อไป

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวง พม. สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.m-society.go.th หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : พม. ได้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์รายละไม่เกิน 2,000 บาท แต่ไม่ใช่เงินเยียวยา โดยเบิกจ่ายตามระเบียบและประกาศของกระทรวง พม. โดยมีการวิเคราะห์เป็นรายกรณีตามขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น