USAID วางแผนลงทุนพลังงานสะอาดในไทย ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก

 

USAID เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ Southeast Asia Smart Power Program (SEA SPP) ต่อยอดโครงการพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชีย ยกระดับการค้าพลังงานในภูมิภาค พัฒนาพลังงานหมุนเวียน ประเมินคุณภาพอากาศในภูมิภาค และเร่งรัดการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด

 

นายไมเคิล ฮีท อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดเผยถึง โครงการ Clean Power Asia ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ทาง USAID และสถานทูตสหรัฐฯ มีแผนสานต่อการส่งเสริมการพัฒนาสาธารณูปโภคให้ทันสมัย รวมถึงการประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น และการค้าพลังงานระดับภูมิภาคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า Southeast Asia Smart Power Program โดยโครงการดังกล่าวสร้างมาเพื่อรับมือวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดี กมลา เทวี แฮร์ริส เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว USAID จะเปิดตัวโครงการใหม่ Southeast Asia Smart Power Program (SEA SPP) ในปีนี้ ด้วยการร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ผู้นำธุรกิจ และภาคีที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน สหรัฐฯ มุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาดของภูมิภาคนี้ ในประเทศไทย เราจะยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพลังงาน เพื่อระบุโอกาสที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่เรามีร่วมกัน โครงการ SEA SPP จะต่อยอดความพยายามในระดับภูมิภาคโดยโครงการ Clean Power Asia ของ USAID ซึ่งประสบความสำเร็จในการระดมเงินทุนด้านพลังงานสะอาดมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดจนการผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ เกือบ 10 กิกะวัตต์ และช่วยป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 90 ล้านเมตริกตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการดังกล่าวยังจะเสริมสร้างโครงการพลังงานอื่น ๆ ที่ USAID เป็นผู้ให้ทุนทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคนี้ โดยจะช่วยยกระดับการค้าพลังงานในภูมิภาค พัฒนาพลังงานหมุนเวียน ประเมินคุณภาพอากาศในภูมิภาค และเร่งรัดการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด

 

 

โดยมีแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) ของประเทศไทยได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเพื่อลดการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (จากร้อยละ 64 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 30-40 ภายในปี 2579) ในขณะเดียวกัน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 15-20 ประเทศไทยมีความตั้งใจอย่างชัดเจนที่จะมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายระดับชาติเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่ากรณีที่เป็นการดำเนินงานตามปกติร้อยละ 20.8 ภายในปี 2573 ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโอกาสเด่นชัดที่สุดสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนสำคัญ ซึ่งขับเคลื่อนโดยแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของไทยที่กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้ง 15.6 กิกะวัตต์ภายในปี 2580 เพื่อช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายนี้ USAID จึงสนับสนุนโครงการในประเทศและภูมิภาค รวมไปถึงการใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ตลอดจนการใช้พลังงานสะอาดในภาคธุรกิจสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของไทย ซึ่งทาง USAID ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของไทยในการกำหนดทิศทางระเบียบข้อบังคับซึ่งจะรับรองความปลอดภัยและสมรรถนะของระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่ทันสมัยจะช่วยให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่แพร่หลายขึ้น ลดมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน

การดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังจะสร้างงานในประเทศไทยอีกด้วย ดังที่เห็นได้จากการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็ง (semi-solid) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ของกลุ่ม ปตท. เมื่อไม่นานมานี้ โดยดำเนินการภายใต้บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ที่รับผิดชอบงานด้านการผลิตไฟฟ้า โรงงานมูลค่า 1,100 ล้านบาทในจังหวัดระยองแห่งนี้มีกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง และจะผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้ในรถสามล้อตุ๊กตุ๊ก รถโดยสารประจำทาง และรถจักรยานยนต์ GPSC ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์เทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทสัญชาติอเมริกัน 24M Technologies จะผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ก่อนที่จะพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับสำรองไฟเพื่อกักเก็บพลังงานหมุนเวียนในไทยต่อไป

 

ซึ่งUSAID ภูมิใจที่ได้สนับสนุนความพยายามของไทย และในเร็ววันนี้ USAID จะเปิดตัวโครงการ Southeast Asia Smart Power Program ซึ่งมีเป้าหมายระดมทุนด้านพลังงานสะอาดเพิ่มเติมอย่างน้อย 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งมุ่งยกระดับการค้าพลังงานในภูมิภาคของอาเซียนอย่างน้อยร้อยละ 5

นอกจากโครงการพลังงานสะอาดของ USAID แล้ว รัฐบาลสหรัฐมีโครงการต่าง ๆ ที่อำนวยให้เกิดการลงทุนในภาคพลังงานสะอาด สำนักทรัพยากรพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคมากมาย ตั้งแต่การพัฒนาการบูรณาการแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวน ไปจนถึงการเสริมสร้างศักยภาพของไทยในการบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า องค์กรอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ก็ยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันเช่นเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนในด้านที่สำคัญนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐฯ (USTDA) ได้มอบเงินทุนสนับสนุนให้กับบริษัทบลู โซลาร์ จำกัด ผู้พัฒนาการผลิตพลังงานในประเทศไทยเมื่อไม่นานนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) พร้อมระบบกักเก็บพลังงานในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ USTDA ยังได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ และกำลังมองหาโครงการใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาพลังงานสะอาด หน่วยงานความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (DFC) ก็มีการดำเนินงานในภูมิภาคนี้เช่นกัน โดยใช้กลไกการเงินหลากหลายรูปแบบเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดของภาคเอกชน DFC กำลังพิจารณาข้อเสนอโครงการการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ ซึ่งรวมไปถึงพลังงานหมุนเวียน การกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก ตลอดจนโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย

นอกไปจากความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ข้างต้นแล้ว บริษัทอเมริกันหลายแห่งยังทำงานร่วมกับไทยในเชิงรุกเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด ซึ่งรวมไปถึงโครงการเกี่ยวกับการกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และพลังงานลม อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น