เชียงใหม่ ชลประทานเผยอนิสงฆ์พายุ โกนเซินส่งผลดีเข้าเขื่อนภูมิพลกว่า 140 ล้าน

ชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เผยอนิสงฆ์พายุ “โกนเซิน” พัดผ่านภาคเหนือ ไหลเข้าเขื่อน “แม่กวง-แม่งัด” กว่า 1.4 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่เขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลเข้า 140 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในทะเลสาบดอยเต่าเพิ่มมากขึ้นหลังจากแล้งหนักหลายปี คาดก่อนหมดฝน 2 เดือน อาจมีปริมาณน้ำเพิ่มอีก ส่วนฝายแม่แตง เผยกักเก็บน้ำได้ 65% ด้านอุตุเหนือ เผย ดอยอินทนนท์ ฝนตกหนักวัดได้ 109.1 มิลลิเมตร ขณะชลประทาน หวังปริมาณน้ำเขื่อนแม่งัดเพิ่มเป็น 135 ล้าน ลบ.ม. เปิดแผนส่งน้ำผลิตประปา ในเชียงใหม่ 24 ล้าน ลบ.ม. ถ้าน้ำน้อยของดปลูกพืชฤดูแล้ง

นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 เข้าสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง อำเภอแม่แตงโดยเป็นฝายทดน้ำในลำน้ำแม่แตง ส่งเข้าคลองสายใหญ่ตั้งแต่ต้นน้ำอำเภอแม่แตง ผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง ระยะทางกว่า 70 กิโลเมตรเพื่อสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรและคอยบริหารจัดการน้ำหลาก จากดอยสุเทพ ไม่ให้ไหลเข้าท่วมเขตเมือง นอกจากนั้น ยังสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยทำแกล้มลิงไว้ 7 แห่ง ท้ายฝาย จุน้ำได้ 4 ล้านลูกบาศ์กเมตร เมื่อถึงฤดูแล้ง ก็จะนำน้ำในแก้มลิง กลับมาใช้ผลิตน้ำประปาเชียงใหม่ ผลิตน้ำประปาหางดง และเติมน้ำในคูเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงคลองแม่ข่า และพื้นที่ทาง การเกษตรมีจำนวนลดลง เหลือเพียง 940,000 ไร่

ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่าช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมา พื้นที่ภาคเหนือได้รับอานิสงส์จากพายุพายุโกนเซินพัดผ่าน ทำแม่น้ำสาขาแม่น้ำปิง เช่นลำแม่แจ่ม ลำน้ำแม่ขาน และลำน้ำแม่กลาง ไหลงลงสู่แม่น้ำปิง เป็นปริมาณมาก ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นกว่า 1 เมตร ซึ่งมีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก รวมกว่า 140 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนดังกล่าวฯ มีปริมาณน้ำเพิ่มเป็น 38% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วและทำให้ทะเลสาบดอยเต่าเริ่มมีน้ำเพิ่มมากขึ้นหลังประสบปัญหาแห้งแล้งมานานกว่า 6 ปี ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด มีน้ำไหลเข้ากว่า 900,000 ลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง มีน้ำไหลเข้าอีก 500,000 ลูกบาศก์เมตร รวม 2 เขื่อน ปริมาณน้ำไหลเข้า 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีน้ำจากลุ่มน้ำแม่งัดไหลลงเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำอาจเพิ่มขึ้น ก่อนหมดฤดูฝน อีก 2 เดือนข้างหน้า

ด้านนายวศิน ลีลาชินาเวศ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงกล่าวว่า ฝายมีพื้นที่กักเก็บน้ำ 3.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้กักเก็บได้ 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 65% ของความจุ และมีพื้นที่แก้มลิง 7 แห่ง รองรับปริมาณน้ำได้ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในฤดูแล้งปีหน้า เนื่องจากมีพื้นที่เกษตร กว่า 174,000 ไร่ แต่มีพื้นที่ส่งน้ำเพื่อเพาะปลูก 94,281 ไร่ ลดลงจากเดิมกว่า 3,000 ไร่ เนื่องจากชุมชนขยายตัว และเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน บางส่วนทำบ้านจัดสรร ทำให้พื้นที่การเกษตรลดลงดังกล่าว ภาพรวม ปี 64 ปริมาณน้ำในฝายแม่แตงมีจำกัด ช่วงฤดูมรสุมทำให้ลุ่มน้ำแม่แตง มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และไหลลงสู่ฝายอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการไหลน้ำหน้าฝาย เฉลี่ย 10-12 วินาที/ลูกบาศก์เมตร จากอัตราการไหล 16 วินาที/ลูกบาศก์เมตร ทำให้การบริหารจัดการชลประทานฝั่งตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง เผยว่า ช่วงมรสุมพัดผ่านมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 95 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 165 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 ปริมาณน้ำปีนี้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ 20% ช่วง 2 เดือน ก่อนหมดฤดูฝนคาดมีปริมาณน้ำเพิ่มเป็น 135 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 78 ความจุทั้งหมด ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำในปี 2565 ได้จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือผลิตประปา 24 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์อาจขอให้ผู้ใช้น้ำพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน งดเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง คาดประหยัดน้ำได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำฝนเทียมเหนือเขื่อนดังกล่าว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้าสร้างอุโมงค์ผันน้ำลุ่มน้ำแม่แตง-เขื่อนแม่งัด-เขื่อนแม่กวง อุดมธารา ว่า ภาพรวมแล้วเสร็จ 62.6% ล่าช้ากว่าแผน 37.4 % เนื่องจากชลประทานยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบางส่วน ต้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอนุญาตก่อน คาดแล้วเสร็จปี 2568 หากแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตร จากลุ่มน้ำแม่แตงที่มีน้ำส่วนเกิน เฉลี่ยปีละ 600 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งโครงการดังกล่าวใช้งบสร้างรวม 15,000 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ รายงานสภาพอากาศ ว่า มีร่องมรสุมพัดผ่าน ภาคเหนือมีฝนตกหนักบางแห่งขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม อาจทำให้น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนเชียงใหม่ฝนฟ้าคะน้อยร้อยละ 60 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ปริมาณฝนรวม 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง วัดได้ 109.1 มิลลิเมตร ส่วนอ่างขาง อ.ฝาง วัดได้เพียง 1.1 มิลลิเมตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น