สธ. ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เปิดช่องช่วยเผามูลฝอยติดเชื้อ ลดปริมาณรอกำจัดให้น้อยลง

​กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วิธีการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ด้วยวิธีอื่น พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นวิธีที่ที่สามารถทำลายมูลฝอยติดเชื้อได้ด้วยความร้อนในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส และทำลายอากาศเสียที่เกิดขึ้นด้วยความร้อนในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19


​ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาด ของโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ ทั้งที่รักษาตัวในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ในชุมชน Community Isolation หรือผู้แยกกักตัวทั้งที่บ้าน Home Isolation ในแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดมูลฝอยติดเชื้อ เพิ่มปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย จากข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564 พบว่ามีแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั้งจากโรงพยาบาลสนาม จำนวน 1,115 แห่ง ศูนย์แยกกักในชุมชนจำนวน 4,700 แห่ง การแยกกักที่บ้านจำนวน 57,325 ราย ทำให้เกิดปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อสะสมตกค้างรอการกำจัด ณ สถานที่รับกำจัดเป็น จำนวนมาก ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 พบว่ามีมูลฝอยติดเชื้อตกค้างรอการกำจัด ณ สถานที่รับกำจัด จำนวน 5 แห่ง มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสะสมรอการกำจัดรวมประมาณ 1,500 ตัน และ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากมีการจัดเก็บไม่ถูกวิธีหรือมีการตกค้างสะสมจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาการ แพร่เชื้อโรคจนควบคุมได้ยากมากขึ้น
​“กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องวิธีการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ด้วยวิธีอื่น พ.ศ. 2564 เพื่อเปิดช่องทางให้สามารถดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยวิธีการนำไปกำจัดในสถานที่ ที่สามารถทำลายมูลฝอยติดเชื้อได้ด้วยความร้อนในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส และทำลายอากาศเสีย ที่เกิดขึ้นด้วยความร้อนในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส เช่น โรงงานกำจัดของเสียอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าขยะชุมชน อันจะช่วยลดปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่รอกำจัดให้ลดน้อยลงได้ โดยได้ลงนามในประกาศ และประกาศนี้มีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
​ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า สำหรับผู้ปฏิบัติงานมูลฝอยติดเชื้อ ต้องรู้จักวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง สวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน ปฏิบัติตามมาตรการและคำแนะนำของหัวหน้างานอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติงานด้วย ความรอบคอบและระมัดระวัง ห้ามโยน ลาก หรือกระทำด้วยวิธีการใดให้ภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อแตก รั่ว เสียหาย หรือตกหล่น ในระหว่างปฏิบัติงาน เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานแล้วให้ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง ชำระล้างร่างกายให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนออกจากพื้นที่ปฏิบัติงานหรือก่อนกลับบ้าน เพื่อเป็นการลดการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19

ร่วมแสดงความคิดเห็น