ญี่ปุ่นมอบรางวัล Asian Health and Longevity Innovation Award Grand Prize ครั้งที่ 1 รางวัลปี 2020 ให้มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 นายฮิโรชิ มัทสึโมะโตะ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ มอบถ้วยรางวัล Asian Health and Longevity Innovation Award ครั้งที่ 1 (หมวดเทคโนโลยีและนวัตกรรม) ให้แก่ คุณสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (FOPDEV) ซึ่งเป็นการคัดเลือกจากผู้สมัครมากกว่า 130 ราย จาก 12 ประเทศ และภูมิภาคในเอเชีย ผ่านการตัดสินอย่างเข้มงวดโดยคณะกรรมการสากล Health Aging Prize for Asian Innovation ก่อตั้งโดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจ เพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia – ERIA) ร่วมกับ ศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Center for International Exchange – JCIE) ในปี 2563 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีในเอเชีย (Asia Health and Wellbeing) ของรัฐบาลญี่ปุ่น

วัตถุประสงค์ของรางวัลคือ เพื่อยกย่องความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ และการมีอายุยืนอย่างมีสุขภาพดี ซึ่งมูลนิธิของท่านได้รับการชี่นชมเป็นอย่างยิ่ง ด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นเลิศในกิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุ

ความสำเร็จของ “บั๊ดดี้ โฮมแคร์” (Buddy Homecare) หรือระบบจัดการและตรวจสอบการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพากันในชุมชนของมูลนิธิฯ คือ การจัดตั้งแพลตฟอร์มที่เป็นระบบจัดการการดูแล และติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุแบบพึ่งพากันในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือมาใช้ประโยชน์ ในการส่งข้อมูลแผนการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ ในการติดตามและจัดการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจากระยะไกล

ทางมูลนิธิฯ ได้มีการให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบมีค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่อาศัยในเขตเมือง และยังมีการให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ราบสูง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ จึงถือเป็นการสนับสนุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ราบสูง และพื้นที่ชนบทได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กิจกรรมของมูลนิธิฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านอย่างมีคุณภาพสูงเท่านั้น แต่ยังให้โอกาสในการฝึกอาชีพการพยาบาลผู้สูงอายุแก่เยาวชนในพื้นที่ราบสูง และพื้นที่ยากจน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ออกแบบโดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะช่วยให้เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสได้ทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ อีกด้วย

กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นหนึ่งที่ท้าทายสำหรับภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเราจึงควรจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ ร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรโดยการแบ่งปันภูมิปัญญา ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อนำอนาคตที่สดใสมาสู่พวกเรา ในโอกาสนี้ จึงเห็นควรเป็นอย่างยิ่งที่จะมอบรางวัล Health Aging Prize for Asia Innovation รางวัลแรกอันน่าจดจำนี้ให้แก่มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ เพื่อเป็นกำลังใจในการทุ่มเทพัฒนางานเพื่อสังคมสืบไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น