ปศุสัตว์น่าน ตรวจเข้มรวบโรงฆ่าเถื่อน (สุกร) โดยไม่ได้รับอนุญาต สวนกระแสโรคหูดับตายแล้ว 1

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. อำนวยการโดย นายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์เขต 5 ,นายอนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน ,นายวรพล รุ่งสิทธิมงคล หัวหน้าด่านกักกันสัตว์น่าน ,นายสัตวแพทย์ชัยโรจน์ โพธิ์เจริญ  ผู้อำนวยการ ส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5.นายสมจิต ศรีอันจันทร์  สัตวแพทย์ชำนาญงาน สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ,นายสัตวแพทย์เชิดศักดิ์ คำศิลา  น.สพ.ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันจับกุมตัวนายทอมสัน (สงวนนามสกุล) อายุ 52 ปี บ้านอยู่ หมู่ 5 ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน

พร้อมด้วยของกลาง ถังแก๊สพร้อมหัวเผาขน ขนาด 6.5 กก.จำนวน 1 ถัง ,หม้อต้มน้ำลวกขนสุกร ใบใหญ่ จำนวน 1 ใบ ,ซองใส่สุกรมีชีวิต จำนวน 1 ซอง ,ตาชั่งสำหรับชั่งสุกรแบบมีล้อลาก ขนาด 300 กก. จำนวน 1 เครื่อง ,ไม้ทุบหัวสุกร ยาว 1.20 เมตร.จำนวน 1 อัน พร้อมด้วยอุปกรณ์ชำแหละหมูจำนวนหนึ่ง ได้ที่โรงฆ่าสัตว์ หมู่ 5 ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน โดยกล่าวหาว่า ประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตร 15) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559

หลังจากที่ จังหวัดน่านพบป่วยโรคหูดับเสียชีวิต 1 คน แล้วมีผู้ป่วยสะสมเกือบ 20 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง ใส่ท่อช่วยหายใจเข้ารับการรักษาในห้องภาวะวิกฤตอายุรกรรม (ไอซียู) 2 ราย เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยที่ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน วางแผนในมาตรการป้องกันควบคุมโรคหูดับ (Streptococcus Suis) ในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวในพื้นที่ ได้สืบทราบว่า มีการตั้งโรงฆ่าเถื่อน (สุกร) โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ลงพื้นที่ตรวสอบพบมีการฆ่าสัตว์โดยไม่ใด้รับอนุมาตจริง ที่โรงฆ่าสัตว์ เลขที่ 179 หมู่ 5 ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน

โดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จากสำนักงานปศุสัตว์เขต 4 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน และด่านกักกันสัตว์น่าน เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวพบโรงฆ่าสุกร อุปกรณในการฆ่าสุกรของกลางดังกล่าว โดยมี นายทอมสัน รับเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว จากการสอบถามในเบื้องต้น นายทอมสัน รับว่าตนไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการฆ่าสัตว์แต่อย่างใด ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิด มาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ต้องระวางโทษ ตามมาตรา 56 จำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้บันทึกตรวจยึดหรืออายัดสัตว์หรือเนื้อสัตว์ ยานพาหนะเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม.พ.รบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อ ร.ต.อ.ธิติศักดิ์ ขัติยะ พงส.สภ.เรือง อ.เมืองน่าน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ในขณะเดียวกัน นายแพทย์ พงษ์เทพ วงวัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ฝ่ายปฐมภูมิ กล่าวว่า เชื้อโรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมทอลซิลของหมู โรคนี้เกิดได้ทั้งปีแต่มักจะมีการระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่หมูมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดของหมูทำให้หมูตาย ถ้ามีผู้นำเนื้อหมูหรือเลือดหมูมารับประทานแบบไม่ผ่านความร้อนจะทำให้ติดเชื้อได้ ในแต่ละปีจังหวัดน่านจะพบผู้ป่วยติดเชื้อสเตรปซูอิสเฉลี่ย จำนวน 20 รายต่อปี  ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ถ้าติดเชื้อเข้าเยื่อบุประสาทจะทำให้ คอแข็ง หูไม่ได้ยิน  ถ้าติดเชื้อเข้ากระแสเลือดจะมีความดันโลหิตลดลง ช๊อคจนถึงเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตวาย โรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดม้าม หรือ ดื่มสุราเป็นประจำ จากการสอบสวนในหลายปีที่ผ่านมา พบว่า หมูที่เป็นสาเหตุของการระบาดมักเกิดจากหมูที่เลี้ยงเอง และชำแหละเองในชุมชน เมื่อหมูป่วยจึงรีบชำแหละและนำออกเร่ขาย

จึงขอฝากแจ้งเตือนให้ประชาชน งดรับประทานอาหารเนื้อหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้  เนื้อหมูที่นำมาประกอบอาหาร ควรผ่านความร้อนให้ทั่วถึง เนื้อหมูที่นำมาปิ้งย่าง ควรย่างให้สุก และควรแยกตะเกียบระหว่างตะเกียบเนื้อสัตว์ดิบ กับตะเกียบที่ใช้รับประทาน เขียงที่ใช้ควรแยกระหว่างเขียงอาหารดิบ เพื่อเตรียมประกอบอาหาร และอาหารสุก เพื่อระวังไม่ให้ปนเปื้อนเชื้อโรค ควรซื้อหมูที่ผ่านโรงเลี้ยง และโรงชำแหละที่มีมาตรฐาน ผู้ที่ชำแหละหมูจะต้องสวมชุดและอุปกรณ์ที่ถูกต้องตามมาตรฐาน และล้างมือให้สะอาดเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล ในระหว่างการชำแหละได้ ในขณะที่ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนค่านิยมเลิกพฤติกรรมล้าสมัย ดังกล่าวด้วย

ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น