มช. ร่วมยกระดับอาหารพื้นบ้าน สู่ระดับพรีเมียม กลไกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หลายพื้นที่นำอาหารประจำถิ่นมาเป็นแรงจูงใจดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยหน้าตา รสชาติ วัตถุดิบ ที่มีความแปลก แต่หากยังขาดการรังสรรค์เพื่อสร้างโดดเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ผุดไอเดีย เปลี่ยนเมนูอาหารพื้นบ้าน เป็นอาหารสุดพรีเมียม ด้วย “ศิลปะการตกแต่งอาหาร” ให้กลายเป็นเมนูชวนตื่นตาน่ารับประทาน โดยเลือกชุมชนไตลื้อบ้านลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่มีวัฒนธรรมอาหารถิ่นอย่างเด่นชัดมาสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดรับกับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม ร่วมกับ ผศ.ดร.ภัทวรา ปฐมรังษิยังกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร นำทีมยุวชนอาสาจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการยุวชนสร้างชาติ : พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยววิถีชุมชนสร้างสรรค์ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและจัดการอาหารเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนแก่ผู้ประกอบการ พร้อมนำเชฟจากร้าน Blackitch Artisan Kitchen ร้านอาหารแนว Chef’s Table มาร่วมแบ่งปันเคล็ดลับในการตกแต่งจานอาหารพื้นบ้านของชาวชุมชนไตลื้อบ้านลวงเหนือ ให้กลายเป็นเมนูสวยงามน่าลิ้มลองถือเป็นเทคนิคสร้างสรรค์ที่นำมาประยุกต์กับอาหารถิ่นได้อย่างลงตัว ที่สำคัญคือสามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าอาหาร สร้างความประทับใจให้กับการท่องเที่ยวชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กิจกรรมยังมีการสอนทักษะใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมหรือ application บนมือถือ การใช้เทคโนโลยี social media เพื่อการประชาสัมพันธ์และสื่อสาร“อาหารเด่น ในท้องถิ่น” ไปสู่นักท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งจากกิจกรรมในครั้งนี้ นักศึกษาที่เป็นยุวชนอาสาจะมีส่วนในร่วมในการจัดทําแผนธุรกิจพัฒนาชุมชน ช่วยสอนผู้ประกอบการ ช่วยทำคลิปส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการสร้างประสบการณ์ตรงเพิ่มเติมจากความรู้ในห้องเรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็ง ด้านการตลาด และนําองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับทุนทางวัฒนธรรม ด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาหารไปพร้อมกับชุมชน โดยการนำอัตลักษณ์ของอาหารถิ่นมานำเสนอให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างการรับรู้ในหมู่นักท่องเที่ยวได้เห็นคุณค่าที่สืบสานจากเสน่ห์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จนนำไปสู่ความเข้มแข็ง ชุมชนเติบโตและสามารถจัดการการท่องเที่ยวของท้องถิ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น