ผ้าพื้นเมืองลำพูนทรุดหนัก ช่วงโควิดลูกค้าหาย กลุ่มทอผ้าตกงานขาดรายได้

กลุ่มสตรีแม่บ้านทอผ้า ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้กิจการ ร้านค้าที่จ้างแม่บ้านทอผ้า ตัดเย็บผ้าทอพื้นเมือง ตามรูปแบบสินค้าทั้ง เครื่องแต่งกาย ,ผ้าม่าน,หัตถกรรมของที่ระลึก หลากแบบ ต้องชะลอการจ้างร่วมๆ 2 ปีแล้ว ทำให้แม่บ้านแต่ละครัวเรือนเดือดร้อน จากรายได้ที่เคยได้รับเดือนละเฉลี่ย 6-7 พันบาท พอที่จะเป็นค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายจิปาถะให้ลูกๆ หลาน

นอกจากนั้น บางร้าน ที่เปิดโรงงานทอผ้า และตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ส่งไปตามแหล่งประจำตามหัวเมืองท่องเที่ยว ก็ไม่จ้างแม่บ้าน ที่รับงานไปทำตามบ้าน จะเหลือเฉพาะลูกจ้างประจำไม่กี่คน ต้องปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ทั้ง ทำอาหารกล่องส่งตามงานบุญ งานศพ หรือไปทำผลผลิตเกษตรแปรรูป ส่งขายทางออนไลน์ กลุ่มผู้ประกอบการ ร้านจำหน่ายงานหัตถกรรม ผ้าพื้นเมือง บ้านดอนหลวง ต.แม่แรง อ.ป่าซาง ลำพูน กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดยอดขายลดลง 70-80 % ต้องปรับตัวขายออนไลน์ ซึ่งรายได้หลักๆ เดิมจะมาจากขายหน้าร้านช่วงก่อนโควิดระบาด ยอดขายร้านเล็กๆ เฉลี่ยวันละหลายหมื่น ยิ่งเทศกาลท่องเที่ยว และมีกิจกรรมงานประจำปีที่จัดขึ้น ทั้งงานแต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง งานฝ้ายงามบ้านหนองเงือก งานผ้าบาติก บ้านป่าบุก ผลิตออเดอร์แทบไม่ทัน ร้านใหญ่ๆกวาด รายได้เป็นแสน ถ้ารวมที่จัดส่งไปยังลูกค้า ร้านประจำ ในจังหวัดต่างๆทางภาคใต้ ภาคตะวันออก บางร้านเดือนละหลายล้านบาท จนขยับลงทุนกันมากมาย

“พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ เดือดร้อน ได้รับผลกระทบกันหมด บางร้านผ้าทอ ต้องเปิดร้านกาแฟ กลุ่มลูกจ้าง กลุ่มแม่บ้านที่รับงานจากร้านต่างๆ ทั้งทอผ้า ตัดเย็บก็ขาดรายได้ ต้องปรับเปลี่ยนชีวิตให้อยู่รอดให้ได้ หันไปขายของตามกาดนัด ไปเป็นแรงงานก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป รายวันก็มีต้องดิ้นรน เพราะจะหวังพึ่งรายได้ภาคการเกษตร ผลผลิตหลักๆของชุมชน เช่น ลำไย ราคาร่วง ทำไปไม่คุ้มทุน”

ด้าน นายเอกพงษ์ ทุนอินทร์ นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรง อ.ป่าซาง ลำพูน กล่าวว่า พื้นที่ตำบลแม่แรง ส่วนหนึ่งมีรายได้จากงานทอผ้า งานหัตถกรรม ซึ่งท้องถิ่นและ หน่วยงานด้านวัฒนธรรม รวมถึง ด้านท่องเที่ยว ต่างตระหนัก รับรู้สถานการณ์ที่เป็นไปด้านเศรษฐกิจสังคมของชุมชน “หลายภาคส่วน อยากจะจัดกิจกรรม กระตุ้น มีการตระเตรียมงบดำเนินการ ทั้งงานประเพณีท้องถิ่น กิจกรรมส่งเสริมท่องเที่ยว แต่ถ้าทำแล้ว ก็จะเป็นการละลายงบไป เพราะภาวะแบบนี้ คงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา คงต้องอีกระยะ ให้แผนบริหารจัดการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ป้องกันโรคโควิด-19 เป็นไปตามแผน

ถ้าเป็นไปได้ มั่นใจว่าช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า กิจกรรมต่างๆ ด้านวัฒนธรรม ด้านกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจะสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจ ชุมชน ให้ฟื้นตัวขึ้น คงเดินหน้าได้ ต้องปรับตัว อดทนอีกระยะ ส่วนไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เท่าที่ติดตามข้อมูลก็มีทั้ง 2 ด้าน คือส่วนหนึ่งอยากให้มีแผนเปิดบ้าน เปิดชุมชน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ สังคม แต่ส่วนหนึ่งกังวลว่าถ้ามาอีกระลอก จะรับมือกันได้มากน้อยเพียงใด ทุกๆ ฝ่ายระดับนโยบายท้องถิ่นระดับปฏิบัติการ พยายามขับเคลื่อนแผนเต็มที่ ต้องอดทนอีกระยะ มั่นใจว่า ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น”

ร่วมแสดงความคิดเห็น