กระทรวงดิจิทัล เผย “ข่าวปลอม” ในภาพรวมลดลง และร่วมกับตำรวจดำเนินคดีไปแล้ว จำนวนกว่า 116 ราย

ดีอีเอส พบสัญญาณบวกผลงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในการสร้างการรับรู้และรู้เท่าทันข่าวปลอม แนวโน้มการแจ้งจากเบาะแสข้อความเฟคนิวส์ เทียบปีงบ 63 และ 64 เพิ่มแบบก้าวกระโดด แต่หลังคัดกรองพบยอดที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบ และสัดส่วนข่าวปลอมในภาพรวมลดลง ด้านการทำงานร่วมกับตำรวจลงดาบมือโพสต์/แชร์ ดำเนินคดีไปแล้ว 59 รายในปี 63 และปีนี้อีก 57 ราย

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวระหว่างการเปิดงาน “การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 3” ณ จ.ภูเก็ต ว่า ภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีงบ 63 และปีงบ 64 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้ พบว่า มีจำนวนเบาะแสข้อความที่ต้องคัดกรองเพิ่มมากขึ้น แต่หลังการคัดกรองพบจำนวนข่าวที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบลดลง ขณะที่ เริ่มเห็นแนวโน้มข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนลดสัดส่วนลง โดยสัดส่วนข่าวจริงสูงขึ้น

โดยในส่วนของข้อความข่าวที่คัดกรอง เมื่อปี 63 มีข้อความข่าวที่คัดกรองเฉลี่ยต่อเดือน 1.6 ล้านข้อความ และปี 64 มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 22 ล้านข้อความ ขณะที่ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์นำมาตรวจสอบปีล่าสุดนี้ลดลง 8.65% จากปี 63

ทั้งนี้ หลังจากประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว พบว่าสัดส่วนข่าวปลอมในปี 64 ลดลง 26.43% ข่าวจริงเพิ่มขึ้น 28.66% และข่าวบิดเบือนลดลง 6.69%

ขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคง (ANSCOP) (ศตปค.ตร.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด โดยปี 63 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย 158 ราย ดำเนินคดีแล้ว 59 ราย และปีล่าสุดนี้จำนวน 135 ราย ดำเนินคดีแล้ว 57 ราย

นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกถึงปัจจุบัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการข่าวปลอม เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน ตลอดจนสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างความรู้เท่าทันข่าวปลอมให้กับประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ

โดยในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กระทรวงฯ ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.63 – 31 ส.ค. 64 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีจำนวนข้อความที่ถูกคัดกรองกว่า 104 ล้านข้อความ พบเข้าหลักเกณฑ์และนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ 10,283 ข้อความ และได้รับการประสานยืนยันจากหน่วยงานต่างๆ รวมเป็นข่าวจำนวน 5,348 เรื่อง สัดส่วนมากสุดอยู่ในหมวดสุขภาพ 55.60% ตามมาด้วยหมวดนโยบายรัฐ 41.20% และหมวดเศรษฐกิจ 3.20% และไม่พบหมวดภัยพิบัติที่เข้าข่ายเกี่ยวกับโควิด

“เราต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันจากการหลงเชื่อข่าวปลอมข่าวลวง และส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ภารกิจกระทรวงฯ ที่สำคัญอีกทางคือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคม ประชาชนได้รู้จักวิธีตอบโต้ข่าวปลอม เน้นความรับผิดชอบต่อสังคมในการเผยแพร่และการแชร์ส่งต่อหรือแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนจะผลักดันให้เกิดการบรรจุเป็นหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนในการรู้เท่าทันในข่าวปลอม อย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรองก่อนการแชร์ต่อ” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว

ปัจจุบัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้จัดทำช่องทางสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลข่าวที่ถูกต้อง และรับแจ้งเบาะแสไว้ดังนี้ 1. เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com 2. เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center 3. ทวิตเตอร์ @AfncThailand 4. ไลน์ทางการ @antifakenewscenter และ 5. สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

ร่วมแสดงความคิดเห็น