กรมอนามัย แนะ 5 ทางรอดปลอดโรคพื้นที่น้ำท่วม หลังรับมือฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม แนะนำ 5 ทางรอดปลอดโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้เข้าใจในการจัดการด้านสุขภาพและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมหลังประสบภัยพิบัติ เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ หลายจังหวัดยังคงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย คาดว่าระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2564 มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตือนภัยและให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวได้อพยพไปยังที่ปลอดภัย พร้อมให้เตรียมรับมือและเฝ้าระวังการเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ซึ่งการป้องกัน ไม่เพียงแต่ในช่วงประสบภัยเท่านั้น แต่หลังจากได้รับผลกระทบแล้วประชาชนในพื้นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในการสร้างสุขอนามัยทีดีเพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้นตามมา

โดยให้จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ให้ถูกต้องตามข้อแนะนำ 5 ทางรอดปลอดโรคของกรมอนามัย ประกอบด้วย 1.) อย่าทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหารลงในน้ำ ให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น 2.) อย่าเล่นน้ำเน่าขัง เชื้อโรคอาจเข้าตา ปาก จมูก และบาดแผล อันตรายถึงตาย หากสัมผัสน้ำเน่าเสียต้องล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด 3.) กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด 4.) หลังสถานการณ์ปกติ ให้ล้างบ้านเรือน ห้องสุขา ภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ และ 5.) ช่วยกันล้างตลาด ประปาชุมชน และสถานที่สาธารณะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคบิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ ท้องร่วง ตาแดง โรคฉี่หนู แผลเน่า สมองอักเสบ เป็นต้น

​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมที่ผ่านมา กรมอนามัยได้มอบหมายให้ ศูนย์อนามัยเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับกรณีที่เกิดอุทกภัยใน พื้นที่เสี่ยง เช่น การจัดการสุขาภิบาลอาหาร การจัดการขยะ จัดหาน้ำสะอาด และชุดนายสะอาด โดยมีศูนย์อนามัยได้ลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือ อาทิ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี และศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแล สุขภาพตนเอง พร้อมมอบสิ่งสนับสนุน ได้แก่ ชุดอาหารแห้ง อุปกรณ์ชุดบรรเทาสาธารณภัย อุทกภัย และชุดนายสะอาด เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัย และป้องกันโรคที่มากับอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด นอกจากนี้ ส่วนกลาง ได้ดำเนินการจัดส่ง “วัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลือน้ำท่วม” สนับสนุนศูนย์อนามัย ซึ่งภายในประกอบด้วย คลอรีนผง รองเท้าบู๊ท ถุงดำ ถุงแดง น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์น้ำ เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาล้างจาน สบู่น้ำ ถุงมือยาง และไม้กวาดทางมะพร้าว

​“สำหรับศูนย์พักพิงที่ทางราชการจัดเตรียมช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ยังคงต้องเฝ้าระวังและคัดกรอง ความเสี่ยงโรคโควิด-19 และยังต้องคุมเข้มสุขอนามัยส่วนบุคคล การปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงและการระบาดของโรค หากมีจุดปรุงประกอบอาหารต้องเลือกพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวให้ห่างจากห้องส้วมและที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสีย หรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยง การเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อน ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยก เขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก และอาหารปรุงสุก เขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้าง ขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ดเพราะจะทำให้เชื้อโรคจากผ้าปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้ ที่สำคัญ ควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น