ตัวแทนชาวนาจังหวัดเชียงราย 18 อำเภอ ยื่น 9 ข้อเรียกร้อง ต่อ ผวจ.เชียงราย เพื่อส่งผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้อง วอนช่วยเหลือหลังราคาข้าวตกต่ำ!

 

เวลา 09.00 น. วันที่ 6 ต.ค. 64 ตัวแทนเกษตรกรทั้ง 18 อำเภอ ราว 50 คน นำโดยนายเลอสันต์ บุญเลิศ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย นายสมนึก วิงวอน สมาชิกสภาเกษตรกรอำเภอเทิง พร้อมด้วยบรรดาสมาชิกและเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ได้มารวมตัวกันที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย เพื่อหารือทางออกร่วมกัน หลังฤดูกาลเพาะปลูก 2563/2564 เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประสบปัญหาขาดทุนจากราคาขายข้าวตกต่ำ ซึ่งผู้ร่วมประชุมได้หารือกันและได้ตกลงที่จะทำข้อเรียกร้องเพื่อจะไปยื่นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งผ่านปัญหาข้อเรียกร้องดังกล่าวไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องราคาสินค้าการเกษตร เพื่อให้นำเสนอปัญหาดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือ

ต่อมาในเวลา 14.00 น. แกนนำสภาเกษตรกรและตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อนำหนังสือข้อเรียกร้องไปยื่นให้กับนายภาสกร บุญญลักษม์ ผวจ.เชียงราย คนใหม่ แต่ปรากฏว่า ผวจ.เชียงรายติดภารกิจ จึงมอบหมายให้นายกฤษณะ พินิจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงรายเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากตัวแทนเกษตรกร โดยมีปลัดจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และตัวแทน กอ.รมน. ร่วมเป็นสักขีพยาน

ซึ่งหนังสือเรียกร้องของสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วยข้อเรียกร้องทั้งหมด 9 ข้อ โดยมีเนื้อหาดังนี้…

ด้วยสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ได้รับหนังสือร้องเรียนจากเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย เพื่อขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการเพาะปลูก 2564/2565 พบว่ามีต้นทุนการผลิต
อยู่ที่ 5,100-5,700 บาท/กิโลกรัม ซึ่งได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด ราคาจำหน่ายในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.50-6.10 บาท และมีราคาตกต่ำในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เกษตรกรทั้ง 18 อำเภอ
จึงได้ประชุมเพื่อเสนอปัญหาและข้อเรียกร้อง ในวันที่ 6 ตุลาคม 64 ณ สำนักงนสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย เพื่อขอความอนุเคราะห์สภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทาง
แก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดเชียงรายเป็นการเร่งด่วน

จากการประชุมดังกล่าว สภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ได้รวบรวมและสรุปแนวทางแก้ไข
ปัญหาจากเกษตรกรดังต่อไปนี้

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการเพาะปลูก 2563/2564 ค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าว/ไร่
ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนดังนี้
1.1 ข้าวเปลือกหอมมะลิ จาก 360 กก/ไร่ เป็น 650 กก./ไร่
1.2 ข้าวเปลือกเจ้า จาก 445 กก./ไร่ เป็น 700 กก./ไร่.
1.3 ข้าวเปลือกหอมประทุม จาก 685 กก/ไร่ เป็น 700 กก/ไร่
1.4 ข้าวเปลือกเหนียวจาก 391 กก./ไร่ เป็น 700 กก./ไร่

2. พยุงราคาข้าวเหนียวสด ความชื้นไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ในราคา 10 บาท

3. พยุงราคาข้าวจ้าว ความชื้นไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ในราคา 9 บาท

4. ขอรับการสนับสนุน 1 ไซโล 1 ลานตาก ทุกหมู่บ้าน

5. ขยายตลาดรับซื้อโดยนำพ่อค้าจากแหล่งอื่นเข้ามาสนับสนุน

6. ให้ภาครัฐควบคุมดูแลในช่วงการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ราคาเป็นไปอย่างยุติธรรม

7. ให้หน่วยงานภาครัฐ จัดให้มีการประชุมระหว่างโรงสีและเกษตรกรก่อนฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อจัดทำข้อตกลงเรื่องคุณภาพและราคาข้าวที่จะรับซื้อ

8. จัดโซนนิ่งการปลูกข้าวภาพรวมทั้งประเทศ

9. ให้หน่วยงานภาครัฐ จัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตในแต่ละฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ด้านนายสมนึก วิงวอน กำนันตำบลหนองแรด อ.เทิง และประธานสภาเกษตรกรอำเภอเทิง กล่าวว่า ในอดีตสมัยที่ราคาก๋วยเตี๋ยวราคา 5 บาท ชาวนาก็ได้ขายข้าวในราคา 5 บาท แต่ตอนนี้ก๋วยเตี๋ยวราคาพุ่งขึ้นไปเป็นชามละ 40-50 บาท แต่ชาวนาก็ยังขายข้าวได้ที่ราคา 5 บาทต่อกิโลกรัมอยู่ ซึ่งราคาขายข้าวดังกล่าวเป็นสิ่งสวนทางกับราคาต้นทุนที่ชาวนาต้องแบกรับ ไม่แน่ใจว่าระหว่างปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาการแบกภาระหนี้สินจากต้นทุนการผลิตของชาวนา ปัญหาไหนที่จะทำให้ชาวนาตายก่อนกัน ก็อยากจะฝากไปยังผู้มีอำนาจช่วยพิจารณาช่วยเหลือชาวนาด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น