ทีมนักวิชาการ มช.ลงพื้นที่ผันน้ำยวม แนะรัฐทบทวน EIA-ชะลอโครงการก่อน ทีมเยาวชนสำรวจแม่น้ำ-ระบบนิเวศ เผยร่วมปกป้องธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Regional Center for Social Science and Sustainable Development : RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการผันน้ำยวม ว่าได้เดินทางพร้อมคณะไปที่บ้านแม่งูด อำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นปากอุโมงค์ผันน้ำมาลงอ่างเขื่อนภูมพล โดยสิ่งที่พบคือชาวบ้านบอกว่าถูกหลอกโดยมีคนที่อ้างว่าเป็นสื่อมวลชนมาถ่ายทำความคิดเห็นของชาวบ้าน และชาวบ้านต่างบอกว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เนื่องจากไม่มีส่วนร่วมใดๆ แต่เมื่อนำไปเสนอข่าวกลับบอกว่าชาวบ้านเห็นด้วย

ดร.ชยันต์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐเข้ามาสอบถามชาวบ้านแต่ชาวบ้านไม่เข้าใจเพราะไม่มีใครได้รับข้อมูลหรือเห็นรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นอกจากชาวบ้านแม่งูดที่ไม่รู้ข้อมูลแล้ว ยังมีชาวบ้านรอบๆพื้นที่อีกหลายหมู่บ้านก็ยังไม่รู้เรื่องเลย แต่ชาวบ้านมีความเด็ดเดี่ยวที่จะร่วมกันคัดค้านโครงการผันน้ำครั้งนี้ สาเหตุที่พวกเขาไม่เห็นด้วยนอกจากการไม่มีส่วนร่วมแล้ว โครงการนี้ยังซ้ำเติมพวกเขาอีกครั้งเพราะชาวบ้านเคยถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อ 2507 มาแล้ว จนกลายเป็นนิคมฯในพื้นที่ป่าสงวน ทุกวันนี้พวกเขาได้ลงหลักปักฐานจนมีรายได้จากสวนลำใยซึ่งได้ผลผลิตดีและยังเลี้ยงวัวโดยปล่อยให้หากินในป่า นอกจากนี้ยังมีรายได้จากของป่า ซึ่งหากถูกขุดเจาะอุโมงค์และกลายเป็นกองดินถมป่า

“น้ำในอ่างเก็บน้ำที่จะเพิ่มขึ้น ชาวบ้านเชื่อว่าต้องท่วมบ้านและสวนของพวกเขาที่อยู่ขอบอ่าง เหมือนครั้งหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่นับสิบวันทำให้ต้นลำใยเสียหายและช่วงเวลาก่อสร้างโครงการที่มีการสร้างถนนและขุดเจาะอุโมงค์ย่อมทำให้เกิดมลภาวะ ที่แน่ๆคือความเป็นอยู่ที่สบายอย่างเพียงพอ ก็จะเปลี่ยนไปอีกครั้ง เขาจึงได้ยื่นหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านโครงการนี้แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ”ดร.ชยันต์ กล่าว

หัวหน้าศูนย์ RCSD กล่าวว่า คณะได้ลงพื้นที่หมู่บ้านแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการโดยจะมีการกั้นลำน้ำยวมเพื่อสร้างเขื่อนและอ่าง นอกจากนี้ยังมีสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ โดยสถานการณ์ของชาวบ้านไม่มีต่างประจากชาวบ้านแม่งูด โดยชาวบ้านมีความตื่นตัวมากทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง เยาวชนและกลุ่มผู้หญิง ซึ่งพวกเขาชี้ให้เห็นการทำงานของมหาลัยวิทยาลัยที่เข้ามาเก็บข้อมูล EIA ที่ส่งนักศึกษาเข้ามาแต่ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทั้งๆที่เป็นเรื่องใหญ่ของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างเขื่อนและสถานีสูบน้ำ รวมทั้งการขุดเจาะอุโมงค์ที่ต้องมีกองดินขนาดใหญ่

“เมื่อมีการสร้างเขื่อนและอ่างปริมาณน้ำจะเอ่อท้นขึ้นมาเป็นปัญหาที่สำคัญของชาวบ้าน เขาเชื่อว่าปลาขนาดใหญ่หรือปลาเล็กที่เคยอพยพมาจากแม่น้ำสาละวิน ก็จะเข้ามาไม่ได้อีก รวมถึงหอยน้ำและสัตว์น้ำอย่างอื่น รวมถึงพืชผักริมน้ำที่ชาวบ้านพึ่งพาก็จะหายไป ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้ไร่หมุนเวียนหรือการเลี้ยงวัว พวกเขามีวิถีชีวิตโดยคนเหล่านี้เคยเป็นแรงงานในเหมืองแร่ริมน้ำยวม หลายคนไม่สามารถอ่านหนังสือไทยได้ เพราะฉะนั้นการที่ทีมจัดทำ EIA เข้ามาเขาจึงไม่เข้าใจข้อมูลที่มีแต่ภาษาไทย และใน EIA เขียนว่ามี 4 ครอบครัวที่จะได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะอุโมงค์ แต่จริงๆแล้วมีมากกว่านั้น”ดร.ชยันต์ กล่าว

ดร.ชยันต์กล่าวว่า เคยมีบทเรียนกรณีปากมูน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งคณะกรรมการเขื่อนโลกเสนอให้ทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยให้ตั้งกรรมการขึ้นมาจากทั้งสองซึ่งเป็นที่ยอมรับ โดยศึกษาทั้งด้านปลา เศรษกิจและสังคม แล้วมานำเสนอให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับ แต่สุดท้ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้จึงเกิดการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ และชาวบ้านได้ร่วมกันทำ EIA ของตัวเอง กลายเป็นงานวิจัยไทบ้านนำเสนอต่อเวทีสาธารณะ จนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถโต้เถียงข้อมูลของชาวบ้านได้ ตอนนั้นรัฐบาลไม่ยอมทำตามมติ แต่ชาวบ้านก็ได้เสนอข้อเท็จจริงเป็นรูปธรรมซึ่งเป็นบทเรียนน่าสนใจ รัฐบาลควรให้ชาวบ้านเลือก ตอนหลังเขาจึงยอมเปิดประตูเขื่อนเพื่อให้ปลาเข้ามาตามฤดูกาล

“ที่สำคัญมันเป็นประเด็นที่สังคมได้รับรู้มากขึ้น การทำโครงการขนาดใหญ่ถ้าขาดการมีส่วนร่วมที่น่าเชื่อถือ รัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ อย่างเรื่องรายได้ของชาวบ้านแม่งูดที่ต้องสูญเสียไปนั้นมีเท่าไร หรือชาวบ้านน้ำเงาที่แม่น้ำเงาและยวมไหลไปรวมกับสาละวินเป็นระบบนิเวศที่สำคัญมากของทั้ง 3 แม่น้ำ เมื่อมีการสร้างเขื่อนแล้วจะเป็นย่างไร พื้นที่บริเวณนี้ชาวบ้านเขารู้ละเอียด เราจะเข้าไปช่วยชาวบ้านในการเก็บข้อมูล ทำงานวิจัยร่วมกัน ต้นเดือนพฤศจิกายนเราเข้าไปบ้านแม่งูดอีกครั้งเพื่อวางแผน ดังนั้นรัฐบาลควรชะลอโครงการนี้เพื่อศึกษาผลกระทบให้รอบด้านก่อน“ดร.ชยันต์ กล่าว

ทางด้านเครือข่ายเยาวชนและผู้นำชาวบ้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสำรวจระบบนิเวศแม่น้ำยวม-เงา ที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยได้ลงเรือที่จุดบรรจบแม่น้ำเงา ล่องตามแม่น้ำยวมราว 10 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านท่าเรือที่จะจมใต้อ่างเก็บน้ำ ไปถึงแก่งผาแดง ใกล้กับจุดสร้างเขื่อนแม่น้ำยวม ก่อนที่แม่น้ำยวมจะไหลลงสู่แม่น้ำเมย บนพรมแดนไทยพม่า

นายสันติภาพ เลิศพิเชียรพิบูลย์ ตัวแทนเยาวชนบ้านแม่เงา กล่าวว่าคนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ละลำห้วยมีความสำคัญ เช่นห้วยกุ้ง ที่มีกุ้งอาศัยอยู่ในถ้ำในลำห้วยซึ่งไหลลงแม่น้ำยวม และเยาวชนได้หารือว่าจะสืบสานการปกป้องธรรมชาติร่วมกันได้อย่างไร

“เราเรียนรู้ว่าชาวบ้านลุ่มน้ำยวม-เงา ได้ร่วมกันปกป้องแม่น้ำยวม-เงา มาตลอด 30 ปี ตั้งแต่เด็กๆ เราก็รู้ว่าพ่อแม่ลุกขึ้นปกป้องธรรมชาติ วันนี้ได้ล่องเรือร่วมกันกับคนรุ่นก่อน ได้เรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้ตั้งแต่มีโครงการเขื่อนแม่ลามาหลวง เยาวชนจะต้องร่วมกันสู้ต่อไป และจากนี้จะวางแผนเพื่อศึกษาระบบนิเวศเพื่อให้ได้ทราบทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำ คือ ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งขวา และป่าสงวนแห่งชาติท่าสองยาง” นายสันติภาพ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น