ทีมวิจัยคณะวิทย์ มช. พัฒนาไบโอเซนเซอร์เคมีไฟฟ้า สำหรับตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม

ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาอิมมูโนเซนเซอร์เคมีไฟฟ้า ที่สามารถตรวจวัดสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม ได้พร้อมกันถึง 3 ชนิด ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการทดสอบเพื่อการวินิจฉัย ที่มีราคาประหยัด เพิ่มโอกาสให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงการคัดกรองความเสี่ยง ต่อมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น และอาจนำไปสู่การลดอัตราการสูญเสียชีวิต จากมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ในผู้หญิงทั่วโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี นอกจากการตรวจทางรังสีวิทยาและการตรวจชิ้นเนื้อแล้วโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม (Breast cancer biomarkers) กำลังได้รับความสนใจเนื่องจากจะทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเต้านมทางคลินิกยังมีราคาสูงและยากต่อการเข้าถึง

ดร.กุลริศา กันทะมัง ศ.ดร.จรูญ จักร์มุณี และ รศ.ดร.กรธัช อุ่นนันกาศ จากภาควิชาเคมี และศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนาอิมมูโนเซนเซอร์เคมีไฟฟ้า ที่สามารถตรวจวัดสารบ่งชี้มะเร็งเต้านมได้ถึง 3 ชนิดพร้อมกัน ได้แก่ Mucin1 (MUC1), Cancer antigen 15-3 (CA15-3) และ Human epidermal growth factor receptor 2 (HER2) ได้เป็นครั้งแรก โดยได้รายงานผลการค้นคว้าในวารสาร Journal of Materials Chemistry B (Impact factor 2020: 6.331)

ไบโอเซ็นเซอร์ดังกล่าวอาศัยการวัดสัญญาณไฟฟ้าที่ขั้ว screen-printed carbon electrode (SPCE) ที่ปรับปรุงด้วยโพรบรีดอกซ์ (Redox probes) ที่แตกต่างกัน และพอลิเอทิลีนอิมมิน-อนุภาคทองคำนาโนที่คอนจูเกตกับแอนติบอดี (Antibodies) ที่จำเพาะต่อสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม 3 ชนิด โดยพบว่าสัญญาณไฟฟ้าที่วัดได้มี ค่าลดลงเมื่อแอนติบอดีเกิดอันตรกิริยากับแอนติเจน ที่เป็นสารบ่งชี้มะเร็งเต้านมในตัวอย่าง นอกจากนี้ ไบโอเซ็นเซอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้น สามารถวัดปริมาณแอนติเจนชนิดต่างๆ ในระดับอ้างอิงจาก clinical relevant cut-off levels และสามารถประยุกต์ใช้ในตัวอย่าง human serum ได้อีกด้วย

งานวิจัยพื้นฐานดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการทดสอบ เพื่อการวินิจฉัยหรือ point-of-care (POC) diagnosis ที่มีราคาประหยัด เพิ่มโอกาสให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงการคัดกรองความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น และอาจนำไปสู่การลดอัตราการสูญเสียชีวิต จากมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น