(มีคลิป) เชียงใหม่ สถานการณ์ รพ.สนามน่าห่วง หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งวันละหลาย 100 ราย ล่าสุดเพิ่มเตียงเสริม 1,500 เตียง

เชียงใหม่ สถานการณ์โรงพยาบาลสนามน่าห่วง หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งวันละหลาย 100 ราย ล่าสุดเพิ่มเตียงเสริม 1,500 เตียง รองรับผู้ป่วยรายใหม่ ขณะที่บุคลากรแพทย์ ยังทำงานหนัก ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ด้านคลัสเตอร์เมืองใหม่ยังคงระบาดต่อเนื่อง

วันที่ 15 ต.ค.64 รายงานข่าวแจ้งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ส่อเค้าจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ในพื้นที่กาดเมืองใหม่ และพ่วงกับกลุ่มคลัสเตอร์อีกหลายกลุ่ม ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่ มียอดผู้ป่วยรายวันไม่ต่ำกว่า 200 คน อีกทั้งยังพบว่าน่าจะมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นวานนี้ ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมในจังหวัดอยู่ที่ 10,797 ราย และมีผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ จำนวนถึง 1,813 คน

ขณะที่ล่าสุดที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ายังคงมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ เดินทางเข้ามารับการกักตัวและรักษาอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 วันนี้ โดยล่าสุดพบว่าตัวเลขของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม ล่าสุดของวันนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,053 คน และทำให้ต้องมีการเสริมเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยเป็น 1,500 เตียง ซึ่งคาดว่าในช่วงหลังจากนี้ จะมีปริมาณผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ามารักษาตัวอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งผู้ป่วย หญิงและชาย รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มครอบครัว ที่มีเด็กเล็กอายุ 3 ขวบ ขึ้นไปอีกด้วย

สำหรับบรรยากาศภายในโรงพยาบาลสนามในขณะนี้พบว่า ทางทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ยังคงปฏิบัติหน้าที่กันอย่างหนัก จากการที่ต้องคอยดูแลและให้การรักษาผู้ป่วย ที่ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการตรวจเช็คความเรียบร้อยในแต่ละวัน และการตรวจรับสิ่งของจากญาติผู้ป่วย ที่นำมามอบให้ผู้ป่วยภายใน อีกทั้งในในส่วนของการตรวจเช็คความเรีบยร้อยของพื้นที่ ซึ่งต้องมีการจัดเวรยามทั้งช่วงเช้า กลางวัน และช่วงดึก เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นางนิภาพร อุปปินใจ หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า จากการที่ในขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลสนามต้องมีการเพิ่มพื้นที่ในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยใช้พื้นที่ของศูนย์ประชุมเป็น 4 โถง และมีการเสริมเตียงรองรับขึ้นเป็นอีกเท่าตัว ทำให้ตอนนี้มีการเสริมเตียงผู้ป่วยเป็น 1,500 เตียง และทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้มีการประสานให้มีการจัดทำ CI (community isolation) แต่ละอำเภอ ขณะเดียวกัน ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้าและออกโรงพยาบาลสนามตอนนี้ ก็ยังไม่คงที่ เนื่องจากมีการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง แต่ในตอนนี้มีปริมาณผู้ป่วยที่รักษาตัวแล้วออกไป น้อยกว่าผู้ป่วยที่เข้ามา โดยจากการรักษาที่ให้ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ 14 วัน และเมื่อครบ 14 วัน ก็จะเดินทางกลับ แต่ช่วงที่ผู้ป่วยเดิมออกไป อาจจะมีปริมาณผู้ป่วยใหม่ที่มากกว่าเข้ามาเพิ่มจากที่ออกไป

ใน่ส่วนของปริมาณบุคลากรก็กำลังมีการพิจารณา ว่าจะเพิ่มจำนวนหรือไม่ เนื่องจากในตอนนี้ได้มีการจัดแบ่งเวรพยาบาลเป็น เวรเช้า 12 คน , เวรบ่าย 10 คน และเวรดึก 8 คน แต่ถ้ามีการเพิ่มบุคคลากรขึ้นมา ก็จะแบ่งใหม่เป็น เวรเช้า 15 คน , เวรบ่าย 12 คน และเวรดึก 10 คน และคาดว่าน่าจะเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่รักษาตัวนั้น เป็นคนไข้สีเขียว โดยตอนนี้ในโรงพยาบาลสนาม มีบุคลากรที่หมุนเวียนกันมาตามตารางเวรทั้งหมด 119 คน ซึ่งเป็นบุคลากรจากทุกโรงพยาบาลในเชียงใหม่ นอกจากโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลที่รับคนไข้ที่เป็นสีเหลือง เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ , โรงพยาบาลสันทราย , โรงพยาบาลจอมทอง , โรงพยาบาลสันป่าตอง และโรงพยาบาลฝาง เป็นต้น ส่วนโรงพยาบาลสนามจังหวัดนั้น จะรับผู้ป่วยเฉพาะเพียงสีเขียว จึงมีบุคลากรของ 18 โรงพยาบาลรอบนอก ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยกัน

หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลสนาม จังหวัดเชียงใหม่ บอกอีกว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของอุปกรณ์ และเครื่องมือของเจ้าหน้าที่นั้น ในตอนนี้ยังมีความเพียงพอ แต่อาจจะมีบางส่วนที่ขาดบ้างเล็กน้อย ซึ่งกำลังมีการประสานขอเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องนอน เนื่องจากการที่มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดเตรียมไม่ทัน และไม่เพียงพอ โดยเฉพาะจากการที่ผู้ป่วยติดเชื้อในช่วง 2-3 วันทึ่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นวันละไม่ต่ำกว่า 100 คน ทำให้ขณะนี้ต้องเร่งเสริมเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ด้วย

ทางด้าน นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ระลอกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 6,628 ราย ในห้วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่เกินวันละ 50 ราย แต่เมื่อ 4-5 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อกระโดดขึ้นไปเกินกว่าวันละ 200 ราย โดยเมื่อ 13 ตุลาคม มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 337 ราย 14 ตุลาคม ผู้ติดเชื้อกว่า 233 ราย สร้างความกังวลให้พี่น้องประชาชน โดยคลัสเตอร์ที่สำคัญ และน่าเชื่อว่าเป็นที่มาของการแพร่เชื้อไปในส่วนต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่

คือ “คลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่” ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งที่มีความเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เพราะเป็นตลาดผัก ผลไม้ ดอกไม้ และสิ่งของต่างๆ ที่มีการค้าขายเชื่อมโยงกัน ล่าสุดการติดเชื้อจากคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่รายใหม่วานนี้ ลดลงเหลือ 74 ราย โดยเมื่อ 14 ตุลาคม ติดเชื้อใหม่กว่า 110 ราย รวมขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์นี้ จำนวน 642 ราย โดยคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ มีการกระจายของเชื้อระบาดต่อเนื่องไปอีก 9 คลัสเตอร์ย่อย รวมกว่า 122 ราย เป็นการตรวจพบระหว่างการกักตัวกว่า 53 ราย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน โดยคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ จะลดลงอย่างต่อเนื่องภายใน 3-5 วันนี้ และถึงขั้นการควบคุมได้ ที่สำคัญผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสหรือติดต่อกับผู้ค้าขายในตลาดเมืองใหม่ ต้องกักตนเองอย่างเคร่งครัด หากพบมีอาการผิดปกติ ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที เพื่อลดการแพร่กระจายและควบคุมโรคให้ได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อมีการปิดครบ 14 วัน (จนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 64) แล้ว ตลาดเมืองใหม่ ก็จะสามารถกลับมาเปิดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ที่จะกลับมาเปิดร้านหรือทำงานได้นั้น จะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK และมีผลเป็นลบ ประกอบกับได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยในเบื้องต้น ได้มีการอนุมัติวัคซีน จำนวน 3,000 โดส สำหรับผู้ค้าขายและผู้ที่อยู่ในละแวกนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าตลาดเมืองใหม่ จะกลับมาเปิดได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งการหาแนวทางช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดตลาด เบื้องต้นจะนำถุงยังชีพ 500 ชุด ไปแจกจ่ายบรรเทาผลกระทบกับพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ระหว่างกักตัว พร้อมกับเร่งหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถึงการใช้งบประมาณจากทางท้องถิ่นหรือจากจังหวัด เพื่อช่วยเหลือผู้ค้า ด้วยการรับซื้อเพื่อระบายสินค้า

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ในการกักตัวประชาชน 2 สถานที่ ได้แก่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ และ โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย หากมีผู้ต้องกักตัวจำนวนมากก็จะใช้ระบบ Home Isolation คือ การดูแลตัวเองจากที่บ้าน ซึ่งสามารถทำได้ในผู้ป่วยกลุ่มที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ เพื่อสังเกตอาการและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง รวมทั้งยังสั่งการให้ 25 อำเภอ จัดตั้งศูนย์แยกกักชุมชน หรือ Community Isolation (IC) เพื่อเป็นศูนย์ที่ให้การช่วยเหลือและดูแลผู้ที่อยู่ระหว่างการกักตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น