(มีคลิป) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สอนชาวบ้านเลี้ยงปลาดุกในถัง หลังประสบปัญหาทรัพยากรแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สอนชาวบ้านเลี้ยงปลาดุกในถัง หลังประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากปัญหาทรัพยากรแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงและการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่ กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านหาดบ้าย เลขที่ 192 หมู่ที่ 1 บ้านหาดบ้าย ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ที่ปรึกษาสมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมอาชีพโดยชุดถังเกษตรแบบผสมผสาน นายสมศักดิ์ ติยะธะ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดบ้าย ได้นำชาวบ้านหาดบ้ายจำนวน 25 คน เข้าอบรมโครงการส่งเสริมอาชีพโดยชุดถังเกษตรแบบผสมผสาน ภายใต้ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2564 สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โดยกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา การช่วยเหลือดูแลคนชายขอบที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด โดยมุ่งเน้นคนชายของที่ไม่มีสาถานะทางทะเบียน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชายขอบที่ทำงานและอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านชายแดนของประเทศไทย ซึ่งชุมชนบ้าน แจ่งป๋อง หาดบ้าย ซึ่งเป็นจุดผ่อนปรน ใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย

นายไกรทอง กล่าววว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ทั้งอาหารและรายได้จากการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการลดลงอย่างมากและต่อเนื่องของปลาและสัตว์น้ำ บางชุมชนเดิมมีเรือหาปลาอยู่มากถึง 70 ลำปัจจุบันลดลงเหลือ 4-5 ลำ และในการออกไปหาปลาแต่ละครั้งชาวบ้านแทบจะไม่ได้ปลาเลย ชาวบ้านที่เดิมมีอาชีพหลักในการหาปลาต้องประสบปัญหาอย่างหนัก หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพไปรับจ้าง หรือทำการเกษตรซึ่งต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่หรือไม่มีที่ดินเพื่อการเกษตร เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งในครัวเรือนและหมู่บ้านโดยเฉพาะหมู่บ้านชายแดนริมฝั่งโขงที่มีอาชีพหาปลาเป็นหลัก กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือกลุ่มผู้หญิงและผู้สูงอายุเพราะไม่มีทางเลือกทั้งไม่มีแรงที่จะไปทำงานนอกพื้นที่ ประกอบกับที่ดินทำกินก็มีจำกัดหรือบางคนไม่มีเลย ในสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด-19 แล้วผลกระทบยิ่งเลวร้าย การที่จะไปหาของป่ามาขาย เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักป่า ก็ไม่มีคนซื้อเพราะการเดินทางของคนลดลงหรือคนแก่ก็ไม่มีแรงเข้าป่า ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยเหลือเนื่องจากมองว่าปัญหาแม่น้ำโขงไม่ได้เกิดจากภายในประเทศ รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่ชายแดนเหล่านี้ขาดการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ ดังนั้นควรจะเร่งแก้ปัญหาโดยการเสริมสร้างอาชีพที่เพิ่มความมั่นคงทางอาหารและรายได้แก่ชาวบ้านที่สามารถเห็นผลได้เร็วและใช้ทรัพยากรหรือต้นทุนน้อย ชาวบ้านสามารถต่อยอดหรือพัฒนาต่อได้

“กลุ่มเป้าหมายที่คัดเลือกมาคือชาวบ้านที่ยากจนและได้รับผลกระทบจากปัญหาทรัพยากรแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงและปัญหาโรคโควิด-19 เป็นคนที่ขาดทรัพยากรในการทำการเกษตรและส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิงและคนชราที่ไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก ผู้ชายที่เคยมีอาชีพหลักในการหาปลาปัจจุบันเปลี่ยนไปทำการเกษตรในรายที่ไม่มีที่ดินก็จะรับจ้าง ส่วนผู้หญิงและคนแก่ที่เดิมจะพึ่งพาแม่น้ำโขงในการไปหาปลาตามบริเวณริมฝั่งซึ่งอันตรายและใช้แรงน้อยกว่าโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาการสนับสนุนให้เลี้ยงปลาและปลูกผักแบบไฮโดรโฟนิคโดยใช้ชุดถังเกษตรแบบผสมผสานจึงเป็นทางออกที่สำคัญ ชุดถังเกษตรแบบผสมผสาน หรือ ทีเรียกว่า PAS เป็นชุดถังดำขนาด 200 ลิตรจำนวน 3 ถังที่ต่อท่อเชื่อมกันโดยน้ำจะหมุนเวียนผ่านท่อและถังกรองโดยปั๊มน้ำที่ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ถังจะสามารถเลี้ยงปลาดุกได้ถังละประมาณ 80 ตัว โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนก็สามารถจับปลากินหรือขายได้ นอกจากนี้เรายังสามารถปลูกผักแบบไฮโดรโฟนิคในถ้วยพลาสติกที่ฝาถังได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเพราะขี้ปลาในถังจะเป็นปุ๋ยอย่างดี PAS เป็นนวัตกรรมในการเกษตรที่ใช้กันมากในประเทศอินโดนีเซีย แต่ในประเทศไทยนำไปใช้น้อยมากเนื่องจากขาดคนพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่และเผยแพร่ ปัจจุบันสมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขงได้พัฒนาและส่งเสริมการใช้แล้วใน 6 หมู่บ้านตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี ได้ผลผลิตตามที่คาดไว้ชาวบ้านมีอาหารกิน คนในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงที่รู้อยากทำตาม ที่สำคัญเรายังได้พัฒนาปรับปรุงระบบถัง PAS ให้จัดการง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการทดลองให้เหมาะกับชนิดของปลาที่เลี้ยงได้ดี พัฒนาองค์ความรู้อื่นๆเกี่ยวกับการผลิตชุดถัง PAS และเคล็ดลับในการเลี้ยงปลาและปลูกผัก” นายไกรทอง กล่าว


นายสมเกียรติ กล่าวว่า ถัง PAS มีประโยชน์หลายด้านคือ เป็นนวัตกรรมเพื่อการใช้น้ำและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับทุกพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากร ใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องขุดบ่อหรือก่อบ่อซีเมนต์ จัดการดูแลง่าย เด็ก ผู้หญิงและคนแก่สามารถดูแลได้ ไม่ต้องใช้เวลาเยอะ น้ำจะหมุนเวียนเองโดยพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านระบบกรอง ทนทานเป็นสิบปี การติดตั้งหรือเคลื่อนย้ายได้ไม่เหมือนบ่อซีเมนต์ สามารถเลี้ยงปลาและปลูกผักได้ในตัว สามารถเป็นที่เรียนรู้แก่คนอื่นๆในชุมชนหรือชุมชนใกล้เคียงได้ ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดได้ โดยเฉพาะชุมชนประมงที่มีความรู้เรื่องปลาอยู่แล้ว สามารถพัฒนาต่อยอดหรือขยายจำนวนถังให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ ซึ่งชุมชนสามารถพัฒนาเป็นโครงการเสนอต่อส่วนราชการท้องถิ่นหรืออปท.ได้ และยังเป็นการเสริมสร้างการเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ของกลุ่มผู้ใช้ PAS ได้

“ในการดำเนินงานโครงการนี้เราจะเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการผลิตชุดถัง PAS การติดตั้ง เทคนิคการเลี้ยงปลา การเลือกชนิดปลาและพืชที่เหมาะสม การแปรรูปปลา และการขายปลา โครงการนี้จะเป็นการต่อยอดการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้นี้ให้กว้างขวางขึ้น จะมีการผลิตสื่อทั้งคู่มือและคลิปวีดีโอเพื่อเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และจะมีการทำสารคดีสั้นขนาด 3-5 นาทีเพื่อเผยแพร่ในไทยพีบีเอสด้วย จะมีการตั้งกลุ่มไลน์ของผู้ใช้ PAS เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้” นามสมเกียรติ กล่าว


ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น