(มีคลิป) กลุ่ม นศ. พร้อมคณาจารย์ คณะวิจิตรศิลป์ มช. บุกหอนิทรรศการ ศิลปวัฒนธรรม ใช้คีมตัดเหล็กตัดโซ่กุญแจปิดรั้ว หลังถูกปิดกั้นการแสดงผลงานศิลปะและประติมากรรม ของนักศึกษา ชี้ที่ผ่านมาถูกคุกคามมาโดยตลอด

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (16 ต.ค. 64) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มคณะนักศึกษา เกือบ 100 คน พร้อมด้วยคณาจารย์ นำโดย ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มช. และ รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. ได้ร่วมกันออกมาชุมนุม พร้อมทั้งแสดงความไม่พึงพอใจจากการที่คณาจารย์และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ได้มีการทำหนังสือขอใช้สถานที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดนิทรรศการ “Media art and Design Festival” เป็นนิทรรศการที่แสดงผลงานศิลปะและประติมากรรม ของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ชั้นปีที่ 1-ชั้นปีที่ 4 โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 จะมีการแสดงผลงานทางออนไลน์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะได้ให้แสดงผลงานที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม แต่เมื่อมีการทำหนังสือขอใช้สถานที่ถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับมีคำสั่งให้มีการตรวจสอบหรือสแกนผลงานนักศึกษา ว่ามีผลงานที่เข้าข่ายการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือมีผลงานที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย ทำให้นักศึกษามองว่าเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา จึงไม่ยินยอมให้ทางมหาวิทยาลัยตรวจสอบผลงานศิลปะ ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่อนุมัติให้ใช้สถานที่ พร้อมกับนำกุญแจมาล็อกประตู รวมถึงตัดน้ำตัดไฟฟ้า ขณะที่นักศึกษาบางส่วนยังทำกิจกรรมอยู่ภายในหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม

ขณะที่ในเวลาต่อมา หลังการรวมตัวกันของทางคณะนักศึกษาที่บริเวณประตูทางเข้าด้านหน้าหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าประตูนั้นได้มีการล่ามโซ่ล็อกกุญแจไว้ ทำให้คณะนักศึกษา และกลุ่มคณาจารย์ ไม่สามารถเดินทางเข้าไปพื้นที่ด้านในได้ จนทำให้ต้องมีการใช้คีมตัดเหล็กเข้ามาดำเนินการตัดโซ่ที่ใช้ล็อกรั้วทางเข้า ก่อนที่ทางกลุ่มคณะนักศึกษาและคณาจารย์ทั้งหมด จะเคลื่อนพลไปยังบริเวณทางเข้าของตัวอาคาร แต่ก็พบว่าประตูนั้นได้มีการปิดล็อกไว้เช่นกัน ทำให้ต้องมีการหาทางเข้าไปภายในตัวอาคารบริเวณประตูอื่น จนกระทั่งพบว่ามีประตูบริเวณด้านหลังตัวอาคารที่ล็อกไว้ไม่แข็งแรง ทางคณาจารย์และคณะนักศึกษา จึงสามารถเข้ามาได้ แต่ก็พบว่าภายในตัวอาคารนั้นไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากถูกตัดน้ำ ตัดไฟทั้งหมด

จากการสอบถามทางด้าน อาจารย์เจ (สงวนชื่อจริง) อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มช. บอกว่า ก่อนหน้านี้ทางนักศึกษาได้มีการทำเรื่องชี้แจงมาประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้ว และการจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ได้มีการทำมาทุกปี ซึ่งว่าเป็นงานประจำปีของนักศึกษา รวมทั้งก็ได้มีการทำกันมาทุกปีไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสมัยไหน โดยตัวของเอกสารก็ได้มีการส่งไปเท่าที่ส่งได้ ซึ่งก็มีการส่งให้ตรวจสอบทุกปีก็ไม่เคยมีปัญหา เช่น บอกถึงคอนเซ็ปของงานคืออะไร ติดตั้งชิ้นงานตรงไหน ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง เป็นต้น แต่มีปีนี้ที่มีการพยายามจะดูรายละเอียดเพื่อที่จะเซนเซอร์ผลงานของนักศึกษา ทั้งๆ ที่ผลงานของนักศึกษาก็ไม่ได้มีความผิดอะไร เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคงานวิจัยของนักศึกษา ที่อยู่ในกระบวนการการเรียนการสอน ฉะนั้นจึงรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเกิดความล้ำเส้นจนเกินไป ทั้งๆ ที่ได้มีการทำตามระเบียบราชการมาโดยตลอด แม้กระทั่งการไปชุมนุมของนักศึกษา ก็ได้มีการทำเอกสาร ข้อเสนอต่างๆ เสมอ และมีความพร้อมที่จะชี้แจงให้กับทางผู้บริหารตลอดเวลา ซึ่งการที่นักศึกษารวมตัวกันเข้ามาในวันนี้ตนคิดว่าก็ไม่ได้มีความผิดอะไรในฐานะที่เข้ามาใช้พื้นที่ ที่มาจากเงินค่าเทอมของนักศึกษาเอง และภาษีของประชาชน รวมทั้งหอศิลป์แห่งนี้ก็เป็นสถานที่ที่ใช้ในการแสดงออกซึ่งความคิด จินตนาการ และความใฝ่ฝันที่มีต่อสังคม ฉะนั้นจุดกำเนิดของหอศิลป์ จึงมีจุดกำเนิดอยู่บนฐานของการเป็นสมบัติของประชาชนอยู่แล้ว

โดยทางด้าน ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บอกว่า เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ มีการอ้างถึงประกาศของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประกาศที่จะให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งหมดจัดการชุมนุมทางการเมืองยากมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางสังคม และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายของศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่อ้างอิงจากระเบียบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ทางตนก็ถามกลับไปว่า ศิลปะไปสร้างความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองอย่างไร หรือทำให้เกิดความเสื่อมทรามทางศีลธรรม และความดีงามอย่างไร ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกวัน แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ไม่เคยออกมาส่งเสียงเลย ทั้งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน เกิดขึ้นกับการตรวจวิทยานิพลในสาขาต่างๆ ที่ทำให้นักศึกษาถอดใจและเริ่มทำหัวข้อนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 2-3 เรื่อง เช่น ศีลธรรมอันดีงาม และความวุ่นวายทางสังคมและการเมือง ตลอดเวลา โดยสโมสรนักศึกษา สโมสรกลางก็เกิดปัญหานี้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงสโมสรคณะวิจิตรศิลป์ ที่ทางนายกสโมสรจะโพสต์อะไรในเพจของสโมสรเองต้องเอาเนื้อหานั้นให้คณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นคนตรวจสอบก่อน และเรื่องทำนองเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกวัน รวมทั้งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศด้วย และหนักกว่านี้ก็มี ดังนั้นตนคิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหมือนกับภูเขาไฟที่ทำให้ลาวาใต้ผืนดินในที่อื่นๆ ปะทุขึ้นมาอีก

ร่วมแสดงความคิดเห็น