ไฮสปีดเชียงใหม่เลิกลุ้น รถไฟไทยจัดให้ทางรางคู่สายใหม่ จ่อเชื่อมไฮสปีดจีน-ลาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ประชาสัม พันธ์โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ระยะที่ 2 และรถไฟทางคู่สายใหม่ว่า จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทย และเดินทางสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการยกระดับการคมนาคม ทางรางของไทย ให้เป็นระบบขนส่งหลักในอนาคต “เมื่อแล้วเสร็จจะส่งเสริมการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางจาก 10 ล้านตัน/ปี เป็น20 ล้านตัน/ปี กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว หันมาใช้รถไฟจาก 35 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคน/ปี”

ในเอกสารเผยแพร่ของ รฟท.ระบุข้อมูลรถไฟรางคู่ระยะ 2 จะมีช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย (จ.แพร่) ระยะทาง 281 กม. ความเร็วบริการ 100-120 กม./ชม.มี 39 สถานี ซึ่งสถานะโครงการอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ส่วนช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม.ความเร็วบริการ 80-120 กม./ชม.มี 17 สถานี รางกว้าง 1 เมตร สถานะเช่นเดียวกับช่วงแรก ในขณะที่รางคู่สายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง323 กม.ซึ่งจะเป็นทางรถไฟสายใหม่ไปจ่อเชื่อมไฮสปีดจีน-ลาว ที่เตรียมเปิดบริการ 2 ธ.ค.นี้นั้น สถานโครงการอยู่ในขั้นตอนเวนคืนที่ดิน ที่มีผลบังคับใช้ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินฯ เมื่อ 27 พ.ค. 2564 รางกว้าง 1 เมตร รถไฟทางคู่ สายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 72,921 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน (6 ปี) นอกจากจะสนับสนุนการท่องเที่ยวภาคเหนือแล้ว ยังจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่ง จากจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ อ.เชียงของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ที่เมืองคุนหมิงด้วย

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนประมูลนั้น มีข้อร้องเรียนเนื่องจากมีผู้ซื้อซองมีมาก แต่ผู้ยื่นซองประมูลจริงน้อย และผู้ที่ชนะประมูลในแต่ละสัญญา เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางไม่มาก เช่น ช่วงเด่นชัย-งาว ราคากลาง 26,599.16 ล้านบาท ราคาต่ำสุด 26,568 ล้าน บาท ต่ำจากราคากลาง 31.16 ล้านบาท คิดเป็น 0.117% ช่วงงาว-เชียงราย ราคากลาง 26,931.78 ล้านบาท ราคาต่ำสุด 26,900 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13.78 ล้านบาท คิดเป็น 0.051% ช่วงเชียงราย-เชียงของ ราคากลาง 19,406.31 ล้านบาท ราคาต่ำสุด 19,390 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.31 ล้านบาท คิดเป็น 0.084% เป็นต้น

โครงการรถไฟความเร็วสูง สายเชียงใหม่-กรุงเทพ ที่มีการศึกษาแนวทางดำเนินการ สถานะล่าสุดเมื่อ 11 ส.ค. 2564 คมนาคมได้ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่นครั้งที่ 5 ผ่านระบบทางไกล มีประเด็นหารือการจัดทำแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางราง ระยะที่ 2และ การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-เชียงใหม่ ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เช่นเดียวกับแผนจะพัฒนาพื้นที่บนที่ดินการรถไฟ ซึ่งบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่เตรียมพัฒนา ก็ยังเป็นพื้นที่รอพัฒนาในอนาคตอีกต่อไป

ล่าสุดกองโฆษณาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟฯ แจ้งว่าขบวนรถในเส้นทางสายเหนือ 14 ขบวน ที่ได้ความเสียหายจากน้ำท่วมเปิดให้บริการได้ตามปกติแล้วเช่น ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9/10 กรุงเทพ – เชียงใหม่-กรุงเทพ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 7/8 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ ขบวนรถเร็วที่ 109/102 กรุงเทพ- เชียงใหม่-กรุงเทพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น