วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนเกี๋ยง “วันออกวัสสา” ลาพระเจ้า

“ออกวัสสา” คำว่า “วัสสา” สะกดตามภาษาบาลี ตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า “พรรษา” ออกวัสสา หมายถึงการที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งในช่วงฤดูกาลพรรษา โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด ๓ เดือนมาโดยตลอด คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เหนือ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเกี๋ยง ซึ่งตรงกับ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของไทยภาคกลาง ดังนั้น วันออกวัสสาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเกี๋ยงของทุก ๆ ปี
การออกวัสสา หรือ ออกพรรษา หากกล่าวในเชิงประเพณีแล้ว ชาวล้านนามีวัตรปฏิบัติและกิจกรรมหลายอย่างที่แตกต่างจากชาวไทยภาคอื่น ๆ ซึ่งมิได้หมายเอาเฉพาะกิจของสงฆ์เท่านั้น หากแต่ชาวบ้านเองก็มีกิจอันเป็นส่วนของคฤหัสถ์เช่นกัน


กิจกรรมหลักของพระสงฆ์นั้น เป็นไปตามพระวินัยที่เคยปฏิบัติมา แต่กิจกรรมของชาวบ้านจะตั้งใจปฏิบัติกันเป็นกรณีพิเศษ คือไปทำบุญแต่เช้าตรู่ เริ่มด้วยการ “ตานขันเข้า” คือ “ทานขันข้าว” หมายถึง การทำบุญให้ทานแด่พระสงฆ์ด้วยอาหารเป็นสำรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งหวังอุทิศส่วนกุศลข้ามภพข้ามภูมิไปหาเจ้าที่เจ้าทาง พระแม่นางธรณี หรือเทพยดา อันรักษาบ้านเรือน ตลอดจน “ผีต๋ายเก่าเน่าเมิน” คือดวงวิญญาณของญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว อันมีบิดามารดา เป็นต้น

https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/2041

ร่วมแสดงความคิดเห็น