องคมนตรี เชิญหิรัญบัฏสถาปนาสมณศักดิ์ และเชิญสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ถวายแด่พระพรหมมงคลวัชโรดม อ.งาว จ.ลำปาง

วันนี้ 21 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ พระอารามหลวงวัดจองคำ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เชิญหิรัญบัฏสถาปนาสมณศักดิ์ และเชิญสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ถวายแด่พระพรหมมงคลวัชโรดม หรือ หลวงปู่โอภาส โอภาโส อายุ 90 ปี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดลำปาง โดยมีนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิด เข้าร่วมประกอบพิธีอันเป็นมงคล

พระพรหมมงคลวัชโรดม หรือ หลวงปู่โอภาส โอภาโส เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่เคร่งครัด เปี่ยมด้วยคุณธรรมและเมตตา เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน โดยได้ปฏิบัติอุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอายุ 90 ปี 70 พรรษา มีนามเดิมว่า “โอภาส” เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 ตรงกับวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม บิดาชื่อ นายหว่า หรือ ต๊ะ หงษ์ มารดาชื่อ นางสองจ่า หงษ์ ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา พระพรหมมงคลวัชโรดม ท่านนับถือและศรัทธาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก โดยในปี พ.ศ. 2484 อายุ 9 ขวบ ได้ออกบรรพชาเป็นสามเณร ด้วยความตั้งใจว่าจะพัฒนาตนเองและผู้อื่น อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป ต่อมาจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ มีพระครูวิทิตธรรมคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ก็ได้ทำการศึกษาพระธรรมบาลีควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เป็นพระภิกษุสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐาน โดยตามประวัติระบุว่า พระพรหมมงคลวัชโรดม เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ใหญ่สังวโร แห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งท่านได้ติดตามพระอาจารย์ไปปฏิบัติกรรมฐานในช่วงจำพรรษาอยู่ที่สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์โดยตลอด ได้จาริกแสวงบุญปฏิบัติกรรมฐานไปถึงประเทศอินเดียเป็นเวลานานหลายปี และได้ธุดงด์กลับมาประเทศไทยเมื่อปี 2523 ก่อนจะมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดจองคำ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง จนถึงปัจจุบันในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

โดยพระพรหมมงคลวัชโรดม ได้ปฏิบัติกรรมฐานและปฏิบัติศาสนกิจ รับเอาภารธุระทางพระพุทธศาสนาไว้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งในด้านงานสาธารณูปการ งานก่อสร้างพัฒนาวัด และงานด้านการศึกษา ทำการเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และด้วยความใส่ใจในการศึกษาทำให้พระภิกษุ–สามเณร ที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนมีความเชี่ยวชาญเรื่องพระไตรปิฎก ช่ำชองภาษาอังกฤษ และภาษาชนกลุ่มน้อยหลายภาษา โดยวัดจองคำ ได้มีสถิติการสอบได้ของนักเรียนในสนามสอบบาลีสนามหลวง เพิ่มขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง จนทำให้วัดจองคำ ได้รับการยกย่องจากมหาเถรสมาคมให้เป็น “สำนักศาสนศึกษาประจำจังหวัด” ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาไว้เป็นอเนกประการ ทำให้พระพรหมมงคลวัชโรดม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมงคลวัชโรดม สุตาคมปริยัติวิธาน ปรีชาญาณอัคคบัณฑิต ไพศาลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดจองคำพระอารามหลวง จังหวัดลำปาง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป คือ พระครูปลัด มีราชทินนาม 1, พระครูวินัยธร 1, พระครูธรรมธร 1, พระครูคู่สวด 2, พระครูสังฆรักษ์ มีราชทินนาม 1, พระครูสมุห์ 1 และ พระครูใบฎีกา 1

ร่วมแสดงความคิดเห็น