โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

หลังจากเหตุการณ์กรณีพิพาทแนวเขตแดนบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ยุติลง
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง กองอำนวยการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ขึ้น และได้ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้จำนวน 44,108 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการโดยการจัดตั้ง หมู่บ้านราษฎรอาสาสมัครป้องกันตนเองชายแดน หรือที่เรียกคำย่อว่า หมู่บ้าน รอส. จำนวน 8 หมู่บ้าน หมู่บ้านดั้งเดิม จำนวน 7 หมู่บ้าน และหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จำนวน 6 หมู่บ้าน รวมหมู่บ้านในความรับผิดชอบทั้งสิ้น จำนวน 21 หมู่บ้าน
เมื่อสิ้นสุดโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ในปี พ.ศ. 2537 หน่วยได้แปรสภาพเป็น ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว เพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนาพื้นที่ โดยขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการเป็นรายปี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้เป็นโครงการตามพระราชดำริ ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน

1. ภารกิจงานด้านความมั่นคง
ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว รับผิดชอบดูแลด้านการรักษาปลอดภัย, ปัญหายาเสพติด, ปัญหาตัดไม้ทำลายป่า และผู้หลบหนีเข้าเมือง ในหมู่บ้านราษฎรอาสาป้องกันตัวเอง (รอส.) จำนวน 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านรักชาติ, บ้านเทอดชาติ, บ้านหมั่นแสวง, บ้านชำนาญจุ้ย, บ้านนุชเทียน, บ้านธรรมวงศ์, บ้านส่องสี และบ้านมณีแก้ว และหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จำนวน 6 หมู่บ้าน คือ บ้านร่มเกล้า, บ้านสงบสุข, บ้านขุนน้ำคับ, บ้านน้ำจวง, บ้านน้ำจวงใต้ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ และบ้านน้ำแจ้งพัฒนา ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับ ฝ่ายปกครอง, ตำรวจตระเวนชายแดน, หน่วยพิทักษ์ป่า พิษณุโลก4 (ป่าแดง) และผู้ใหญ่บ้านกำนัน ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ รับผิดชอบมีความปลอดภัยสงบสุข ลดปัญหาการแพร่ระบาดของ ยาเสพติด และการบุกรุกทำลายป่าไม้ได้เป็นอย่างดี
2. ภารกิจงานด้านการส่งเสริมอาชีพ
ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ดำเนินงาน 2 โครงการ ในพื้นที่ ได้แก่ โครงการศูนย์ศิลปาชีพ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อส่งเสริมอาชีพ ด้านการทอผ้า และ ผ้าปักลายชาวเขา ให้กับสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพภูขัดฯ ในพื้นที่รับผิดชอบของ ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ปัจจุบัน มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 894 คน เป็นสมาชิกผ้าทอจำนวน 470 คนและสมาชิกผ้าปักลายชาวเขา 424 คน เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้เสริม เป็นผลให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราขดำริ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว เพื่อมุ่งเน้นการใช้พื้นที่ให้ราษฎรได้เรียนรู้การทำเกษตรแผนใหม่ที่ถูกต้องควบคู่กับการอนุรักษ์ดิน และ ระบบนิเวศป่าไม้บนพื้นที่สูง เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ นำไปพัฒนาเป็นอาชีพของตนเอง ราษฎรสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการเข้าไปเป็นแรงงาน ในการดำเนินงานของโครงการฯ ทำให้เป็นแหล่งจ้างแรงงานให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง ราษฎรมีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการได้เพิ่มพูนความรู้ ผลลัพธ์ที่สำคัญ โดยตรงจากการดำเนินงานของสถานีฯ คือ ผลผลิตอาหารปลอดสารพิษประเภทต่างๆ ที่เป็นพืชผัก ทั้งที่กินใบและ กินผล
จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งบูรณาการศักยภาพทางการทหารในทุกๆ ด้านของกองทัพบก เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามพระราชปณิธาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อความมั่นคงของชาติ และความผาสุกของประชาชนสืบไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
21 ตุลาคม 2564

ร่วมแสดงความคิดเห็น