เริ่มแล้ว!! “ของดีตี้เมืองเหนือ NDE HYBRID FAIR” ที่ศูนย์การค้าเมญ่าฯ

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. จับมือ สดช. ร่วมผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการภาคเหนือมากกว่า 100 ราย ตีเป็นมูลค่ากว่า 42 ล้านบาท มุ่งสู่ความสำเร็จในด้าน Digital Transformation เตรียมความพร้อมจัดงานใหญ่ “ของดีตี้เมืองเหนือ NDE HYBRID FAIR”

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เตรียมความพร้อมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี “ของดีตี้เมืองเหนือ NDE HYBRID FAIR” ภายใต้โครงการ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้าน Digital Economy ภาคเหนือ (Northern Digital Economy) ในระหว่างวันที่ 12 – 21 พฤศจิกายน 2564 ณ ศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เชียงใหม่ (ชั้น G) ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.00 น. ตอกย้ำความสำเร็จจากการผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการภาคเหนือด้วยบริการด้านดิจิทัล มากกว่า 100 ราย ในพื้นที่ 17 จังหวัด มาร่วมออกบูธแสดงสินค้า และโชว์นวัตกรรมดิจิทัลมากกว่า 10 Solution ให้เลือกซื้อ เลือกชมภายในงาน ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) งานนี้จึงได้จัดขึ้นภายใต้มาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังสามารถรับชมออนไลน์เสมือนจริงในรูปแบบ Virtual ผ่านทางเว็บไซต์ https://nde.worldtual.asia

ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมและวัตถุประสงค์ว่า “โครงการ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้าน Digital Economy ภาคเหนือ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุน จากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประจําปีงบประมาณ 2563 โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคการศึกษาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ให้แก่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม Start Up และประชาชนทั่วไป และบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคการศึกษาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ในการนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการดิจิทัล และ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่สําคัญของภาคเหนือ

เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value-added) ให้กับสินค้าและบริการ ด้วยการนําเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ โดยการดําเนินการจัดทําหลักสูตรเพื่อให้ความรู้ และอบรมบ่มเพาะที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ด้าน Digital Economy ได้แก่ หลักสูตร Digital Commerce การเริ่มทําการตลาดและขยายช่องทางผ่านโลกออนไลน์ หลักสูตร Digital Transformation การนําเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้าและการบริการ

ทั้งภายในภายนอกองค์กรสร้างคุณค่าที่จับต้องไม่ได้หรือสร้างประสบการณ์ที่มีค่าผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และ หลักสูตร Digital Consumption การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริโภคหรือเสพสื่อดิจิทัล”

ผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี กล่าวสนับสนุนถึงภาพรวมและความสำเร็จของโครงการว่า “ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ Northern Digital Economy ที่ผ่านมา เราได้ร่วมทำงานกับผู้ประกอบการในภาคเหนือในพื้นที่ 17 จังหวัดอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการในยุคนี้ ให้ปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จึงได้เกิดสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านดิจิทัลมากมาย สามารถนำไปช่วยพัฒนาและต่อยอดธุรกิจได้จริง 140 โปรเจค ตีเป็นมูลค่ากว่า 42 ล้านบาท เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของโครงการนี้ จึงดำเนินการจัดงาน “ของดีตี้เมืองเหนือ NDE HYBIRD FAIR” ซึ่งภายในงาน ประกอบไปด้วย

· บูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากทั่วภาคเหนือมากกว่า 100 บูธ พร้อมรองรับการขายบนแพล็ตฟอร์มเว็บไซต์ Shopee และ Lazada
· นิทรรศการนวัตกรรมดิจิทัลจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ นักศึกษาและกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัล มากกว่า 10 Solution
· กิจกรรม Business Matching ทั้งในและต่างประเทศ
· กิจกรรม Live ขายสินค้าภายในงาน พร้อมแจกของรางวัล โปรโมชั่นมากมาย รวมมูลค่ากว่า 50,000 บาท และมี Influencer ชื่อดัง ร่วมพูดคุยขายสินค้า อาทิ คุณโอเมียลอย ผู้เข้าประกวดจากรายการThe Voice Thailand /คุณมีมี Top 15 Miss Universe Thailand 2021 / และคุณเดียว จากรายการอาหารชื่อดัง Master Chef Thailand Season 2 รับชมผ่านทาง Facebook Fanpage : NDE- Northern Digital Economy รวมไปถึงช่องทาง Shopee และ Lazada : O2O Commerce

ทั้งนี้ งานได้จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid สามารถเข้ามาเลือกชม ซื้อสินค้า ภายในงานที่ ศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เชียงใหม่ (ชั้น G) และผ่านทางช่องทางออนไลน์ รับชมแบบเสมือนมาเดินที่งานจริงผ่านลิงค์ http://nde.worldual.asia ด้วยสถานการณ์การระบาด COVID-19 งานนี้เราได้จัดอยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด”

คุณรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะชะลอตัวเนื่องจากเกิดภาวะการระบาดไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการส่งออกของภาครัฐและเอกชน ทำให้ทุกหน่วยงานเตรียมรับมืออย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการจะแก้ให้เศรษฐกิจไทยกลับมา

ขยายตัวได้อีกครั้งอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนงาน จากที่ไม่เคยนำเทคโนโลยีมาใช้ จะต้องมีการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยี เข้ามาประยุกต์ใช้ในแผนนั้นๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตที่เกิดขึ้น และสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อต่อยอดธุรกิจทางการค้าและยิ่งไปกว่านั้น การสร้างความตระหนักด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับทุกภาคส่วนนั้นเป็นสำคัญ จังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายในพัฒนาเมืองให้ไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและทรัพยากรมนุษย์และความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลก็มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเมืองและประเทศให้ก้าวไปสู่สมาร์ทซิตี้ (Smart City) และดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand)

จังหวัดเชียงใหม่จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ปี 2561 – 2564 ของจังหวัดเชียงใหม่ด้านเทคโนโลยี โดยจะเน้นในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับการผลิตและประกอบธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริม และพัฒนาการเชื่อมโยงการผลิตและการประกอบธุรกิจในระดับสากล ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของเราในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทั้งด้านการผลิตและการบริการนั้น จะเน้นไปยังกลุ่ม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ในอุตสาหกรรมหลักของภาคเหนือ เช่น สินค้าส่งเสริมด้านนวัตกรรม หัตถอุตสาหกรรม อุสาหกรรมอาหาร แปรรูปสินค้าเกษตร อุสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบริการ เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาและ Startup ในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งการผลักดันนี้ ภาครัฐเองก็มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานโยบายภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Gov Tech) อย่างจริงจังเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากซึ่งจะทำให้ประเทศมีความพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง”

ดร.สมนึก พิมลเสถียร อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวถึง การยอมรับและการปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ (Adopt & Adapt) “ปัจจุบันประเทศไทยได้เดินหน้าพัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy อย่างจริงจัง เพื่อสอดคล้องรับกับแนวนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาลที่ชัดเจนในการส่งเสริมการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ยังชี้ประเด็นสำคัญในการส่งเสริมไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรม การลงทุน การนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ ในเชิงของผู้ประกอบการ จึงต้องยอมรับ (Adopt) เพื่อนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจ พร้อมทั้งประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ (Adapt) เตรียมพร้อมสู่การเติบโตในยุค Digital Economy”

ร่วมแสดงความคิดเห็น