กรมอนามัย หนุน โรงเรียนทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี ลดปัญหาสุขภาพช่องปาก

กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข ส่งเสริมโรงเรียนทั่วประเทศสร้างเครือข่ายดำเนินงานโรงเรียนเด็กไทยฟันดี ลดปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน


​วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual meeting) ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย ว่า โรงเรียนถือเป็นสถานที่สำคัญในการปลูกฝังเด็กให้มีทักษะการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งการจัดกิจกรรมให้เด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากและมีพฤติกรรมสุขภาพช่องปาก ที่พึงประสงค์เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีสภาวะสุขภาพช่องปากที่ดี โดยรายงานเฝ้าระวังทันตสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเด็กวัยเรียน ปี 2564 ของสำนักทันตสาธารณสุข พบว่าเด็กอายุ 12 ปี มีฟันผุ ร้อยละ 36 เนื่องจากมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม และมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อฟันผุ นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กแปรงฟันอย่างมีคุณภาพ เพียงร้อยละ 34 และกินขนม เครื่องดื่ม ลูกอมระหว่างมื้อมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 49 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพช่องปากและการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพของกลุ่มเด็กวัยเรียน ดังนั้น การประชุม เชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดีครั้งนี้ จะทำให้ภาคีเครือข่ายได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนากิจกรรมบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพช่องปาก อีกทั้งเป็นเวทีเชิดชูเกียรติแก่เครือข่ายและโรงเรียนที่ชนะเลิศในการทำกิจกรรมดังกล่าวด้วย


​“ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้นำแนวคิดการทำงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมุ่งประเด็นเพื่อพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของเด็กนักเรียนและบุคลากร โดยเริ่มจากการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และพัฒนารูปแบบ การดำเนินงานที่เน้นให้มีการทำงานเป็นทีม เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง สามารถดูแลสุขภาพซึ่งกันและกันได้ นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในเด็กวัยเรียน ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี โดยเป็น การรวมกลุ่มโรงเรียนอย่างน้อย 5 โรงเรียน เพื่อจัดการปัญหาสุขภาพช่องปาก เน้นกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเรียนการสอนเรื่องสุขภาพช่องปากในโรงเรียน 2) การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในโรงเรียนและชุมชน และ 3) กิจกรรมแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกวันอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งมีการจัดการ ในระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ โดยปัจจุบัน มีเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี กระจายอยู่ ในทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 961 เครือข่าย ครอบคลุม 7,926 โรงเรียน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น