วว. โชว์ผลงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับ @ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับ…ตอบโจทย์ เพิ่มศักยภาพเกษตรกร/ผู้ประกอบการ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ Hybrid ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์


ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ผลงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับที่ วว. นำมาจัดแสดงนิทรรศการ Hybrid โชว์ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติปีนี้ เป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ในการดำเนินงานวิจัยพัฒนา บูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เพื่อสร้างคุณค่า มูลค่าเพิ่ม ให้กับเศรษฐกิจประเทศ บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของรัฐบาล โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรอย่างชัดเจน ได้แก่ Bio Based Research วิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ ครอบคลุมภารกิจที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ Appropriate Technology พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหา ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ Total Solution Provider บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสู่ระดับเชิงพาณิชย์ Community (Area Based) มุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ


การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับของ วว. และพันธมิตร ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการได้จำนวน 6 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา เลย สุพรรณบุรี นครนายก รวมทั้งจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยนำงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ลิเซียนทัส เบญจมาศ ไทร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. เข้าไปดำเนินการและประสบผลสำเร็จ ดังนี้ 1.พัฒนาระบบการบ่มเมล็ดพันธุ์ในการผลิตลิเซียนทัส ช่วยให้เมล็ดเกิดการยืดของตาดอก (bolting) ช่วยให้เกษตรกรลดรายจ่ายในด้านต้นพันธุ์ และมีศักยภาพในการผลิตปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับในกระถาง 2. การพัฒนาระบบการผลิตเบญจมาศปลอดโรคเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิต พร้อมทั้งขยายเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์สู่ผู้ประกอบการ 3.พัฒนาเครือข่ายและแนวทางการปลูกเลี้ยงพืชสกุลไทร เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการมากกว่า 50 ราย ปลูกเลี้ยงไทรสายพันธุ์ใหม่ 4.พัฒนาองค์ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์จากพืชสกุลไทร พร้อมทั้งศึกษาระบบห่วงโซ่อุปทานความต้องการของตลาดพืชสกุลไทร เพื่อพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงให้ตรงความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์


นอกจากนี้ยังดำเนินงานผ่าน โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตรตามแนวทาง “มาลัยวิทยสถาน” กระทรวง อว. เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับ ในพื้นที่จังหวัดเลยและลำปาง โดยประสบผลสำเร็จพัฒนาศักยภาพในการผลิต การแข่งขัน ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน พัฒนากระบวนการผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่หลากหลาย สู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยการดำเนินโครงการขับเคลื่อนด้วย 4 กิจกรรมย่อย ดังนี้ 1.พัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2.พัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ 3.ยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ และ 4.พัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค

“…ปัจจุบัน วว. มีงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคการเกษตรของประเทศ ในรูปขององค์ความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และแพลตฟอร์มการตลาดสินค้าเกษตรของไม้ดอกไม้ประดับ ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานการสร้างรากฐานระบบผลิตสินค้าเกษตรของไม้ดอกไม้ประดับ สร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในอนาคตสำหรับการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งพืชผัก ผลไม้หลากหลายชนิด เพื่อยกระดับเกษตรกรไปสู่การเป็น Smart Farming และ วว. ยังได้นำ วทน. ไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ในรูปแบบของอาหารฟังก์ชั่น เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนการยกระดับด้านการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนมั่นคงของเศรษฐกิจประเทศต่อไป…” ผู้ว่าการ วว. กล่าวในตอนท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น