โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี “การสร้างคน เพื่อกลับไปสร้างชุมชน”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งโครงการทหารพันธุ์ดี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ ให้ข้าราชการและทหารกองประจำการ ที่มีความสนใจด้านการเกษตร ได้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอน และกระบวนการปลูกผักอินทรีย์ที่ปลอดภัย ซึ่งหน่วยทหารในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ดำเนินการทำเกษตรอินทรีย์, การปศุสัตว์ และการประมง เพื่อเป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไปและราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถาน การณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า

โดยในปี 2561 “โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการ เดินตามรอยเท้าพ่อ มณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี มีวัตถุประสงค์ คือ “การสร้างคน ให้กลับไปสร้างชุมชน” จัดกิจกรรมในพื้นที่โครงการให้เป็นสถานที่ฝึก และเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ผ่านกระบวนการ Learning by Doing (การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง) ให้แก่ทหารกองประจำการที่มีความสนใจ และมีพื้นฐานในการทำอาชีพเกษตรกรรม และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน สามารถนำกลับไปทำที่บ้านตนเองแล้วกระจายสู่ชุมชน “โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของค่ายสุรศักดิ์มนตรี อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 61 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ซึ่งมีหน่วยทหารร่วมในโครงการ ทั้งสิ้น 7 หน่วย รับผิดชอบกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้

1. กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 17 ดำเนินการทำการเกษตรผสมผสาน
2. ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 32 ปลูกพืชตามแนวคิด ผักกับลาบและผักแกงแคดูแลรัก รวมทั้งการเพาะเลี้ยงแพะพันธุ์พระราชทาน แบล็กเบงกอล
3. โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ดำเนินการอนุรักษ์สมุนไพรไทย และแปลงผักชุมชน
4. กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 ดำเนินการเพาะเห็ดฟาง และการอนุรักษ์กระบือไทย
5. กองร้อยทหารช่างที่ 4 กองพันทหารช่างที่ 4 กองพลทหารราบที่ 4 ดำเนินการอัดก้อนเห็ด เพาะเห็ดขอนดำ, เห็ดนางรมดำ, เห็ดหูหนู และการปลูกผักต้นทุนน้อย รายได้สูง
6. กองร้อยมณฑลทหารบกที่ 32 ดำเนินการจัดทำแปลงเกษตรปลอดภัย
7. หมวดดุริยางค์ มณฑลทหารบกที่ 32 ดำเนินการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงกบนา

จากการดำเนินการโครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี เพื่อพัฒนาทหารกองประจำการสู่การเป็นทหารพันธุ์ดี โดยโครงการมุ่งเป้าเพื่อสร้างผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ผลลัพธ์หลัก : เป้าหมายหลัก ที่การดำเนินการภายในโครงการจะต้องสามารถตอบโจทย์ วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ คือ “การสร้างคน เพื่อกลับไปสร้างชุมชน” โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ทหารพันธุ์ดี (บุคคล) : เป็นทหารกองประจำการที่มีความรู้ ความสามารถในการทำเกษตรปลอดภัยภายในโครงการฯ และสามารถดำเนินการหลังปลดจากประจำการ ณ พื้นที่ตนเอง และขยายแนวคิดสู่ชุมชนต่อไป ในปัจจุบันมีทหารพันธุ์ดีของหน่วยที่ปลดฯ และดำเนินการอยู่จำนวน 14 คน ใน 9 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง
2. ศูนย์ศึกษาดูงาน (แหล่งเรียนรู้) : พื้นที่การดำเนินการโครงการฯ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรปลอดสารเคมี รองรับผู้ที่มีความสนใจเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานด้วยกระบวนการ learning by Doing ในปี 2564 มีผู้เข้าศึกษาดูงาน จำนวน 2,082 คน โดยแบ่งเป็น นักเรียน จำนวน 1,526 คน ประชาชนทั่วไป 70 คน และ หน่วยงานภายนอก จำนวน 490 คน

ผลสัมฤทธิ์หลัก : ผลการเกิดขึ้น / ต่อยอดจากผลลัพธ์หลัก เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง และยังคงสามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ชุมชน (เครือข่าย) : ชุมชนได้เห็นการดำเนินการของทหารพันธุ์ดี ก่อให้เกิดความสนใจ และรวมกลุ่มที่จะดำเนินการตาม เป็นการกระจายองค์ความรู้การทำเกษตรปลอดสารเคมี และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปัจจุบันมีเครือข่ายผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 42 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรดอยฮาง จำนวน 30 ครัวเรือน และกลุ่มเครือข่ายบ้านม้า จำนวน 12 ครัวเรือน
2. ผู้ศึกษาดูงาน : มีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานภายในโครงการฯ เช่น นักเรียน , นักศึกษา , หน่วยงานภายนอก และประชาชนทั่วไป สามารถนำไปปรับใช้ภายในชีวิตประจำวัน หรือต่อยอดจากการดำเนินการของตนเอง โดยมีองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ เป็นส่วนเติมเต็มผลลัพธ์รอง (การจำหน่ายผลผลิตจากโครงการฯ) : เป็นผลจากการดำเนินการของโครงการฯ ที่สามารถพยุงให้โครงการฯ ดำเนินการและเป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ผลสัมฤทธิ์รอง (ประชาชนชาวลำปาง) : เป็นผลที่เกิดจากการต่อยอดของผลลัพธ์รอง นอกจากโครงการฯ จะสามารถจำหน่ายผลผลิตแล้ว ยังทำให้พี่น้องประชาชนชาวลำปาง ได้บริโภคพืชผักปลอดสารเคมีในราคาที่ถูก ส่งผลให้พี่น้องประชาชนชาวลำปาง มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยยอดจำหน่ายผลผลิต คิดเป็น 7,130 กิโลกกรัม คิดเป็นเงิน จำนวนทั้งสิ้น 256,159 บาท จากการดำเนินการของโครงการฯ ทำให้เกิดผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถส่งต่อองค์ความรู้ในการดำเนินการ ด้านเกษตรปลอดภัยให้ประชาชนผ่าน “โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” ที่สามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินการได้สืบต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น