“โครงการร้อยใจรักษ์” ในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

“โครงการร้อยใจรักษ์” ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครอบคลุมพื้นที่ 37,119 ไร่ 4 หมู่บ้าน และ 20 หย่อมบ้าน โดย 4 หมู่บ้านหลัก ได้แก่ บ้านห้วยส้าน บ้านเมืองงามเหนือ บ้านหัวเมืองงาม และบ้านเมืองงามใต้ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1,067 ครัวเรือน 4,297 คน ซึ่งพื้นที่ตำบลท่าตอน เป็นพื้นที่เปราะบาง และมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นที่รู้จักว่ามีปัญหาการค้าและลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย – เมียนมา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่นี้เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ทางภาคเหนือ และได้ถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้วในปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเล็งเห็นว่าควรนำการพัฒนาเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ประชา ชนต้องพึ่งพายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป จึงเกิดเป็น “โครงการร้อยใจรักษ์” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกันทำงาน เพื่อความผาสุก มั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและสังคม

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตามศาสตร์พระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง ด้วยการสร้างอาชีพทางเลือกที่สุจริตและหลากหลาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น และวางรากฐานสู่รายได้ที่มั่นคงในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับไปค้ายาเสพติดของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติด พัฒนาด้านการศึกษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน


กองพลทหารม้าที่ 1 (กองพันทหารม้าที่ 10 กรมทหารม้าที่ 2) ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่บ้านห้วยส้าน สนับสนุนโครงการร้อยใจรักษ์ ในการดำเนินการตาม 4 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 มาตรการพัฒนาทางเลือก คือการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในกระบวนการพัฒนา การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร กิจกรรมพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างทางเลือกและโอกาสในการประกอบอาชีพที่สุจริต ควบคู่ไปกับการใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยแบ่งโครงการ/กิจกรรม ออกเป็น ด้านการเกษตร ด้านส่งเสริมอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา และด้านสังคมและคุณภาพชีวิต

มาตรการที่ 2 มาตรการป้องกันยาเสพติด เป็นการพัฒนารากฐานของสังคมคือเด็กและเยาวชน และพัฒนาในทุกช่วงวัย ให้สามารถอ่านออก เขียนได้ เข้าใจและตระหนักต่อปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับสังคม โดยพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเลือก มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสภาพปัญหาและความต้องการ มีกิจกรรมทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด

มาตรการที่ 3 มาตรการบำบัดรักษายาเสพติด คือเตรียมความพน้อมของเจ้าหน้าที่ชุมชน ค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในชุมชน พัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน มีกระบวนการบำบัดรักษาในพื้นที่ชุมชน ปรับทัศนคติและมีการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง

มาตรการที่ 4 มาตรการการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด คือการมีศูนย์ประสานงานพัฒนา เพื่อความมั่นคงโครงการร้อยใจรักษ์ ปฏิบัติการด้านการข่าวเพื่อเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด

ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้ดำเนินการพัฒนาระบบน้ำอุปโภค-บริโภคและระบบน้ำเพื่อการเกษตร พัฒนาด้านการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ โดยได้วิจัยและทดลองทำการเกษตรประณีต ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณ ในด้านปศุสัตว์ได้ส่งเสริมพันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพให้กับชาวบ้าน ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ผ่านกองทุนปศุสัตว์ ให้บริการรักษาและติดตามสุขภาพสัตว์อย่างครบวงจร

อีกทั้งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ให้กับผู้ที่ขาด แคลนทุนทรัพย์ การส่งเสริมอาชีพในด้านหัตถกรรม ได้จัดอบรมการใช้จักรเย็บผ้าแก่กลุ่มแม่บ้านที่ทำหัตถกรรม เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อผลิตงานหัตถกรรม ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้น ได้สร้างและดำเนินการตลาดชุมชนโครงการร้อยใจรักษ์ ให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านในพื้นที่ ควบคู่กับการปรับภูมิทัศน์ นอกจากนี้ โครงการฯได้จัดกิจกรรม “อาสาทำดี” ให้โอกาสผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่โครงการฯ ได้รับการบำบัด ฟื้นฟู มีงานทำ มีศักดิ์ศรีและได้รับการยอมรับจากสังคมอีกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น