1 ธ.ค.นี้ เริ่มคุมเข้มต่างด้าว เพื่อระวังแรงงานผิดกฎหมาย จับปรับทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง

ศูนย์บริหารแรงงานภาคเหนือ เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมติ ครม. 28 ก.ย.64 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจัดหางานจังหวัด เร่งให้คำแนะนำการปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขกลุ่มนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวช่วง 1 – 30 พ.ย. 64 เป็นระยะเก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  “ขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายไทย จากข้อมูลคนต่างด้าวกว่า 157,887 ราย นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงาน 5-6 หมื่นรายเท่านั้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไป ว่ากลุ่มที่ตกหล่นมีอุปสรรคปัญหาใด ประกอบกับสถานการณ์ แรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมือง ยังมีการจับกุมต่อเนื่อง ”

ทั้งนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า ที่ผ่านเจ้าหน้าที่กรมฯได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (แบบ บต.50) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการทุกแห่งตามระยะเวลา 30 วัน ที่กำหนดในมติ ครม.ถ้าเกินกำหนดจะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หลังจาก 30 พ.ย.นี้ กรมการจัดหางานพร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งมีทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ จะลงพื้นที่ตรวจสอบ ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีกลุ่มรับแรงงานต่างด้าว ทำงานผิดกฎหมายฯอย่างจริงจัง หากพบนายจ้างรับต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่น-1 แสนบาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน ทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้ จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มีนโยบายปรับเปลี่ยนมาตรการ ระเบียบและประกาศต่าง ๆ ของกระทรวงฯให้มีความยืดหยุ่นสอดรับกับสถานการณ์ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทย เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง และมีสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิ ไม่ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน อาทิ เสนอ ครม.จนมีมติ 13 ก.ค. 64 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตหรือเคยได้รับอนุญาตทำงาน แต่ไม่สามารถขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติ เนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้ต่อไป ถึง 13 ก.พ. 66 หรือ 2 ปี นับแต่วันอนุญาตเดิมสิ้นสุด รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน ช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก มีการแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ กว่า 4 แสนราย ได้รับอนุญาตทำงาน

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานแล้ว ให้ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน หรือซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 31 มี.ค.2565 ยื่นขอตรวจลงตราวีซ่า ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่กำหนด ภายใน 1 ส.ค.2565 และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่กรมการปกครองกำหนดนายจ้าง/สถานประกอบการ หรือคนต่างด้าวต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการทุกแห่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น