โฟกัส 65 ตำบลเกิดไฟปีที่ผ่านมาต้องลดให้ได้อย่างน้อย 20% พร้อมจัดทำแนวกันไฟยาว 1.7 พันกิโล เชียงใหม่แจงแผนแก้ปัญหาไฟป่า

นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ แบบบูรณาการ ในปี 2565 ว่า ในส่วนของแผนบูรณาการเริ่มต้นที่ทุกหมู่บ้านของจังหวัดเชียงใหม่ต้องทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 (กำหนดให้เสร็จเสร็จในวันที่ 17 ธ.ค. 64) โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการจัดทำแนวกันไฟ แผนการลาดตระเวน แผนการปลูกป่าทำฝาย แผนการจัดการป่าชุมชน การจัดชุดลาดตระเวนประจำหมู่บ้านๆ ละ 25 คน แผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

“แผนงานที่สอง มีการกำหนดเป้าหมายในการลดจุด Hot Spot ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยให้ทุกพื้นที่อำเภอลดจุด Hot Spot ลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากจำนวนจุด Hot Spot ของปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดเชียงใหม่มุ่งเน้นในพื้นที่ 65 ตำบล เสี่ยงที่เกิดจุด Hot Spot ในปีที่ผ่านมา โดยให้ทุกอำเภอ ทุกตำบล ออกคำสั่งจัดตั้งคณะทำงานในระดับอำเภอ ระดับตำบล” นายสมคิดฯ กล่าว

ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ กล่าวอีกว่า การเก็บข้อมูลในระดับตำบล ให้ทุกตำบลเก็บข้อมูลการเกิดไฟไหม้ ทั้งจุด Hot Spot และพื้นที่เผาไหม้ เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของจิสด้า รวมถึงให้ทุกองค์การบริหารส่วนตำบลในทุกพื้นที่จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ดับเพลิงไฟให้เพียงพอและพร้อมใช้ในทุกตำบล โดยให้ประกอบกำลังชุดละ 10 คน เพื่อเสริมชุดดับไฟของหมู่บ้าน โดยจัดให้มีการฝึกอบรมการดับไฟกับชุดเสือไฟหรือเหยี่ยวไฟเพื่อให้สามารถเข้าเผชิญเหตุได้

“นอกจากนี้ยังหมู่บ้านเป้าหมายจัดทำแนวกันไฟร่วมกับหน่วยงานป่าไม้ รวมระยะทางราว 1,710 กิโลเมตร พร้อมกับจัดให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ในเรื่องสาธารณสุข การแจ้งเตือนประชาชน โดยนำ อสม. มาร่วมการรณรงค์ ทั้งนี้ให้ทุก อปท. ได้จัดหาหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 พรัอมกับจัดอาสาป้องกันไฟป่าอย่างเข้มข้น” ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ฯ กล่าว

สำหรับช่วงวิกฤติที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ให้ทุกพื้นที่จัดตั้งศูนย์บัญชาการกำกับติดตามทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยใช้แอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ใช้โดรน ใช้อากาศยาน โดยให้ทุกหน่วยใช้ข้อมูล บริหารจัดการบูรณาการข้อมูลเป็นฐานเดียวกัน โดยรวบข้อมูลมาไว้ที่ศูนย์บัญชาการจังหวัดและให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ร่วมกันในการปฏิบัติในระดับพื้นที่

“ส่วนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้นยังจะใช้แอพพลิเคชั่นมาช่วยในการบริหารจัดการ มีแผนที่ชัดเจนในการจัดการ ด้านงบประมาณใช้ทั้งจากงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด อบจ. อปท. โดยไม่ใช้ซ้ำซ้อนกัน รวมถึงการระดมทุนจากภาคส่วนองค์กรต่างๆ วิสาหกิจเพื่อสังคม และบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่” นายสมคิดฯ กล่าว

ช่วงหลังวิกฤติ หรือช่วงฟื้นฟู สร้างความชุ่มชื้น จะมีการจัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 900 ฝาย จัดทำแนวกันไฟเขียว (Green Belt) จำนวน 700 ไร่ ปลูกป่าและฟื้นฟูป่ารวมไปถึงพืชไม้ท้องถิ่น จำนวน 150 ไร่ สำหรับหมู่บ้านที่ควบคุมไฟได้ดี พอช. จะสนับสนุนเป็นหมู่บ้านมั่นคง และจัดทำแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังการเกิดวิกฤต

“จังหวัดเชียงใหม่ได้แบ่งหมู่บ้านต่างๆ จากการเกิดจุดความร้อน หรือ Hot Spot ในปีที่ผ่านมาออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มแรก พื้นที่สีขาว เป็นตำบลที่ไม่มีจุดความร้อน จำนวน 78 ตำบล กลุ่มที่ 2 พื้นที่สีเขียว ตำบลที่มีจำนวนจุดความร้อน 1- 49 จุด จำนวน 76 ตำบล กลุ่มที่ – พื้นที่สีเหลือง ตำบลที่มีจำนวนจุดความร้อน 50 – 99 จุด จำนวน 19 ตำบล กลุ่มที่ ภ พื้นที่สีส้ม ตำบลที่มีจำนวนจุดความร้อน 100 – 149 จุด จำนวน 14 ตำบล กลุ่มที่ 5 พื้นที่สีแดง ตำบลที่มีจำนวนจุดความร้อน 150 – 199 จุด จำนวน 8 ตำบล และกลุ่มที่ 6 พื้นที่สีแดงเข้ม ตำบลที่มีจำนวนจุดความร้อนมากกว่า 200 จุด จำนวน 9 ตำบล พื้นที่สีแดงเข้มจนถึงสีเขียวที่มีจุด Hot Spot ตั้งแต่ 30 จุดขึ้นไป จะเป็นพื้นที่ตำบลเป้าหมาย 65 ตำบล ในปี 2565 นี้” นายสมคิด ปัญญาดี ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ฯ กล่าว

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมไฟป่าและมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมไฟป่าในเขตป่าไม้ โดยกำหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็น “เขตควบคุมไฟป่า” และออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันการจุดไฟเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร ซึ่งได้ออกประกาศให้มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา

ร่วมแสดงความคิดเห็น