ไขข้อสงสัย เสาหลักเมืองเชียงใหม่ ทำไมห้ามผู้หญิงเข้า?

เชื่อว่าหลายท่านคงสงสัย โดยเฉพาะผู้หญิงในการไปเที่ยวชมวัดวาอารามหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มักมีป้ายประกาศไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าด้านใน หลายท่านคงตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิงถึงเข้าไม่ได้ แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปได้ ผู้เขียนก็เป็นอีกคนที่สงสัย จึงอยากจะนำความรู้ที่ได้ศึกษามาบอกต่อให้ทุกท่าน

จากที่มีโอกาสได้อ่านคอลัมน์ “ปริศนาโบราณคดี” ของ อ.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  ในหัวข้อ “ผู้หญิงห้ามเข้า ผู้หญิงห้ามขึ้น” ในมติชนสุดสัปดาห์ ทำให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น จึงนำมาบอกต่อให้ทุกท่านได้อ่านกัน 

ในมติพุทธศาสนา ท่านอธิบายไว้ว่า พระภิกษุไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวสตรีได้ เพราะถือเป็นเพศที่มีความน่าพิศมัย ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดศีลได้ ดังนั้นอุโบสถทางภาคเหนือหรือภาคอีสาน ลาว พม่า หลายแห่งจึงขีดเส้นห้ามไว้เพื่อไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปใกล้ได้ แต่กรณีของพระธาตุนั้นอธิบายได้ยากกว่า เพราะดูเหมือนว่าองค์พระบรมสารีริกธาตุนั้น น่าจะถูกบรรจุไว้ในองค์เรือนพระธาตุซึ่งอยู่สูงลิบลิ่ว ซึ่งไม่น่าจะห้ามไม่ให้ผู้หญิงเดินทักษิณาวรรตใกล้ๆ องค์พระธาตุ แต่จากตำนานพระเจ้าเลียบโลกระบุไว้หลายฉบับว่า พระบรมสารี ริกธาตุในภาคเหนือองค์สำคัญๆ  เช่น พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุดอยตุง ส่วนใหญ่จะฝังไว้ใต้พื้นดิน มิได้อัญเชิญขึ้นสู่องค์เรือนพระุธาตุ ตามลักษณะภายนอกที่มาห่มคลุมทีหลัง ฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะให้ใครมายืนใกล้ๆ กับฐานเจดีย์ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานในมุมมองทางศาสนา อาจจะเป็นเรื่องไม่ได้แน่นอน

ในมิติด้านไสยศาสตร์ มีความเชื่อว่า “ระดู” ของผู้หญิงนั้นสามารถทำลายมนต์หรือคาถาอาคมได้ โดยสามารถเล่าย้อนกลับไปถึงเมื่อเกือบ 1,400 ปีก่อน ในยุคสมัยของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ของเมืองหริภุญไชย ลำพูนในปัจจุบัน  ที่ได้ใช้เลือดประจำเดือนป้ายชายผ้าซิ่น แล้วนำไปตัดเย็บเป็นมาลาให้กับ ขุนหลวงวิลังคะ ผู้ซึ่งอาสามารบเดิมพันรักจากพระนาง ด้วยการพุ่งหอกจากดอยปุยให้มาตกกลางเมืองลำพูน 3 ครั้ง หากสำเร็จพระนางจามเทวีจะต้องยินยอมเป็นชายาของขุนหลวงวิลังคะ 

ว่ากันว่า หนแรกของการพุ่งหอกมานั้น หอกได้พุงตกเฉียดๆ ใจกลางพระราชวัง ทำให้พระนางจามเทวีชักกลัวว่า ถ้าพุ่งครั้งต่อไป อาจสำเร็จก็ได้ จนกระทั่งสืบรู้มาว่าหอกดังกล่าวลงอาคมไว้ ทำให้สามารถพุ่งได้ไกลและแม่นยำ พระนางจึงแก้เผ็ดด้วยการใช้เลือดประจำเดือนป้ายที่หางใบพลู (เป็นที่มาว่าทำไมเวลากินหมากต้องเด็ดหางใบพลูทิ้ง) ให้ทหารเอาไปถวายขุนหลวงวิลังคะ ก่อนการพุ่งหอกครั้งที่ 2 ซึ่งขุนหลวงวิลังคะก็รับมาด้วยความยินดี ด้วยเข้าใจว่านางมีใจให้ จึงรับมาลามาสวม รับหมากพลูมาเคี้ยว แล้วก็พุ่งหอกออกไป ผลก็คือ หอกพุ่งตกลงมาเพียงแค่เชิงตีนดอยสุเทพเท่านั้น บริเวณสวนบวกหาดในปัจจุบัน จึงได้รู้ว่า ตนเสียทีผู้หญิงซะแล้ว กล่าวกันว่า ตำนานนี้สร้างความหวาดกลัว เรื่องเลือดประจำเดือนของผู้หญิงให้กับหนุ่มเหนือแบบฝังจิตฝังใจ

และอย่างที่เราทราบกันดีว่า ในการสร้างองค์พระธาตุในทางเหนือนั้น มีหลักฐานระบุไว้ว่าได้มีการสร้างหรือผูก “ยันต์จักรผัน”แล้วฝังไว้รอบๆ องค์พระธาตุ เพื่อให้ทำหน้าที่คอยพิทักษ์ปกป้องพระบรมสารีริกธาตุ จากสิ่งชั่วร้ายมาเฉียดกราย และสิ่งที่จะทำลายอาคมนี้ได้ก็คือ ระดูของผู้หญิงนั่นเอง ดังนั้นในอดีต แม้จะไม่มีป้ายห้ามติดให้เห็นชัดเจนแบบในปัจจุบัน ผู้หญิงล้านนาเมื่อถึงวันนั้นของเดือน แม้อยากจะนำอาหารไปถวายพระสงฆ์ที่ศาลาวัดก็มิอาจทำได้ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อที่ว่า หากมีรอบเดือนแล้วยังเดินไปใกล้องค์พระธาตุก็อาจทำให้มีเคราะห์ร้ายถึงขั้นตก “ขึด” หรือ กาลกิณี ซึ่งอาจได้รับภัยพิบัติแบบไม่ทราบสาเหตุได้

จากที่กล่าวมา ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของสาเหตุของการไม่ให้ผู้หญิงเข้าเสาหลักเมือง เฉกเช่นเสาอินทขีลของเชียงใหม่ เนื่องจากภายใต้ฐานเสาอินทขีลได้บรรจุเครื่องสักการะไว้เป็นจำนวนมาก สตรีมีประจำเดือนจึงห้ามเข้าเพราะถือเป็นการลบหลู่ และทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเสาอินทขีล  ดังที่ได้อธิบายไว้ในข้างต้น จากเรื่องราวที่สันนิษฐาน เป็นตำนานต่างๆ  ในด้านมิติทางศาสนา และทางไสยศาสตร์มีส่วนเกี่ยวโยง ทั้งความเชื่อทางด้านพุทธศาสนาและไสยศาสตร์ปะปนกัน และฝังรากลึกกลายเป็นจารีตท้องถิ่นของชาวล้านนา ซึ่งคนเหนือควรที่จะทราบความเป็นมา เพื่อจะได้บอกเล่าต่อๆ กันไป ถึงเรื่องราวที่สืบต่อกันมา 

ร่วมแสดงความคิดเห็น